มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เปิดผลศึกษาวิจัยใหม่พบ “บุหรี่ไฟฟ้า” เป็นอันตรายต่อระบบไหลเวียนโลหิตและหลอดเลือดทั้งแบบเฉียบพลัน และส่งผลระยะยาว
ในการประชุม Cardiovascular Aging New Frontiers and Old Friends เมื่อวันที่ 14 สิงหาคมที่ผ่านมา มีการเปิดเผยผลศึกษาทดลองการสูบบุหรี่ไฟฟ้า ในหนูทดลอง โดยรองศาสตราจารย์ ดร.มาร์ค โอลเฟิรท์ (Mark Olfert) จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเวสต์ เวอร์จิเนีย รัฐเวอร์จิเนีย สหรัฐอเมริกา พบผลกระทบจากบุหรี่ไฟฟ้า ทำให้เกิดความผิดปกติในระบบไหลเวียนโลหิตและหลอดเลือด ส่งผลเฉียบพลันและระยะยาว
ทั้งนี้ แบ่งกลุ่มหนูทดลอง ออกเป็นกลุ่มที่ได้รับไอจากบุหรี่ไฟฟ้าระยะสั้น 5 นาทีเพียงครั้งเดียว กับกลุ่มระยะยาว รับไอน้ำบุหรี่ไฟฟ้าวันละ 4 ชั่วโมง สัปดาห์ละ 5 วันติดต่อกัน 8 เดือน โดยใช้น้ำยาบุหรี่ไฟฟ้ารสคาปูชิโนที่มีสารนิโคติน 18 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร
ผลการวิจัยพบว่า ภายใน 1 ชั่วโมงหลังจากที่หนูได้รับไอบุหรี่ไฟฟ้า 5 นาที ขนาดเส้นเลือดจะหดตัวเล็กลง 31% ส่งผลให้ความสามารถในการขยายตัวของหลอดเลือดลดลง 9% ขณะที่กลุ่มหนูที่ได้รับไอบุหรี่ไฟฟ้าระยะยาว พบว่าดัชนีการแข็งตัวของหลอดเลือดใหญ่ในทรวงอกมีค่าสูงขึ้น 2 เท่าครึ่ง ของกลุ่มหนูที่ไม่ได้รับไอบุหรี่ไฟฟ้า การแข็งตัวของหลอดเลือดใหญ่แสดงว่าภาวะหลอดเลือดมีความยืดหยุ่นลดลง หมายถึงระบบไหลเวียนโลหิตและหลอดเลือดเปลี่ยนแปลง แสดงภาวะการแก่ตัวของหลอดเลือดเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยที่สัมพันธ์กับการนำไปสู่การเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดสมองตีบในมนุษย์
ผู้วิจัยสรุปว่า ผลทดสอบดังกล่าว ชี้ให้เห็นว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีผลต่อสุขภาพของหัวใจและหลอดเลือด กระทบการทำงานของเซลล์บุหลอดเลือด เป็นเหตุให้หลอดเลือดเสื่อมสภาพหรือแก่ก่อนวัย ซึ่งเป็นตัวพยากรณ์สำคัญของการเกิดโรคหลอดเลือดสมองและหัวใจวายได้
- 1114 views