ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผย ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนยังโตต่อเนื่องจากลูกค้าต่างชาติ ขณะที่ตลาดคนไทยยังเผชิญข้อจำกัดด้านกำลังซื้อที่ยังไม่ฟื้นตัวชัดเจน รวมถึงการขยายสวัสดิการรักษาพยาบาลของภาครัฐที่ครอบคลุมมากขึ้น แนวโน้มคนไข้บางกลุ่มที่เจ็บป่วยไม่รุนแรง โดยเฉพาะชนชั้นกลางมีพฤติกรรมซื้อยากินเอง เหตุค่ารักษา รพ.เอกชนแพงขึ้น และไม่อยากต่อคิวนานใน รพ.รัฐ
เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2560 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนยังคงเป็นธุรกิจดาวรุ่งที่สามารถรักษาอัตราการเติบโตของรายได้จากค่ารักษาพยาบาลในระดับเลข 2 หลัก โดยหลักๆ มาจากฐานลูกค้าต่างชาติ
โดยในปี 2560 ภาพรวมรายได้ของโรงพยาบาลเอกชนที่จับตลาดคนไข้ต่างชาติเป็นหลักจะขยายตัวประมาณ 10-12% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ซึ่งสูงกว่ารายได้ของโรงพยาบาลเอกชนที่เน้นจับตลาดคนไทยที่คาดว่าจะขยายตัว 7-9% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว
ทั้งนี้ ตลาด Medical Tourism ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มลูกค้าต่างชาตินั้น สามารถทำรายได้เฉพาะค่ารักษาพยาบาลเข้าประเทศปีละไม่ต่ำกว่า 40,000 ล้านบาท ซึ่งยังไม่รวมถึงรายได้ที่สะพัดไปยังธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่อง (อาทิ ค้าปลีก ท่องเที่ยว ร้านอาหาร) ส่งผลให้ตลาด Medical Tourism กลายมาเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนไทย
ขณะที่ตลาดลูกค้าคนไทยที่ยังคงมีสัดส่วนรายได้หลักราว 70% ของรายได้ทั้งหมดในธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน อาจจะต้องเผชิญกับข้อจำกัดจากกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ยังไม่ฟื้นตัวอย่างชัดเจน รวมถึงการขยายสวัสดิการรักษาพยาบาลของภาครัฐที่ครอบคลุมโรคมากขึ้น ส่งผลให้พฤติกรรมการเข้ารับการรักษาพยาบาลของกลุ่มลูกค้าคนไทยเปลี่ยนแปลงไป ดังนั้นผู้ประกอบการธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนอาจจะมีการปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจ โดยมองหาแหล่งรายได้ใหม่ๆ เข้ามาเสริมนอกเหนือไปจากรายได้หลักที่เป็นค่ารักษาพยาบาล
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า อัตราการขยายตัวของรายได้โรงพยาบาลเอกชนในปี 2560 และถัดไปในระยะข้างหน้า จะถูกขับเคลื่อนโดยรายได้จากลูกค้าต่างชาติเป็นหลัก โดยเฉพาะตลาด Medical Tourism สะท้อนได้จากรายได้ของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนที่มาจากกลุ่มคนไข้ต่างชาติมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจาก 25%ของรายได้ทั้งหมดของโรงพยาบาลเอกชนในปี 2554 เป็น 27% ในปี 2558 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 30% ในปี 2560 โดยมีปัจจัยหนุนมาจากกระแสการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่ยังคงได้รับความนิยมในกลุ่มนักท่องเที่ยวทั่วโลก และไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้
อีกทั้งการสนับสนุนจากทางภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นการขยายระยะเวลาพำนักในไทยให้กับผู้สูงอายุชาวต่างชาติเป็นเวลารวมไม่เกิน 10 ปีจากเดิมแค่ 1 ปี (ครม.อนุมัติเมื่อวันที่ 22 พ.ย. 2559) รวมถึงการผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ (Medical Hub) กลายเป็นปัจจัยหนุนให้คนไข้ชาวต่างชาติที่เป็นกลุ่ม Medical Tourism เลือกที่จะเดินทางเข้ามารับการรักษาพยาบาลในไทยเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ดี แม้ว่าตลาด Medical Tourism จะเป็นตลาดที่มีแนวโน้มสดใส แต่การรุกตลาดนี้ ผู้ประกอบการจะเผชิญการแข่งขันที่รุนแรง เนื่องจากเป็นตลาดที่มีผู้เล่นหลักค่อนข้างมีชื่อเสียง และได้รับความน่าเชื่อถือจากลูกค้ามาอย่างยาวนานจนเกิดการบอกต่อ ดังนั้นการสร้างความเชื่อมั่นโดยเฉพาะในเรื่องของคุณภาพการรักษาและการบริการให้กับลูกค้าต่างชาติ พร้อมกับการชูกลยุทธ์การตลาดที่แตกต่าง เช่น ความเชี่ยวชาญโรคเฉพาะทาง หรือลูกค้าเป้าหมายเฉพาะกลุ่ม เช่น ลูกค้ามุสลิม เป็นต้น ซึ่งน่าจะเป็นโจทย์สำคัญของบรรดาผู้ประกอบการที่สนใจจะเข้ามารุกตลาด Medical Tourism
ขณะที่แนวโน้มรายได้ของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนที่มาจากกลุ่มคนไข้ชาวไทยนั้น ส่วนใหญ่น่าจะเติบโตมาจากผลของราคา (อาทิ เงินเฟ้อ ความซับซ้อนของโรค) แต่หากพิจารณาจำนวนคนไข้ชาวไทยที่เข้ารับการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชน อาจไม่ได้เติบโตอย่างมีนัยสำคัญ สะท้อนข้อจำกัดของการเติบโตของรายได้จากค่ารักษาพยาบาลในตลาดคนไข้คนไทย
ทั้งนี้ จากกำลังซื้อของคนในประเทศที่ยังไม่ฟื้นตัวอย่างชัดเจน สวนทางกับอัตราค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชนที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้คนไข้บางกลุ่มที่มีอาการเจ็บป่วยไม่รุนแรง โดยเฉพาะกลุ่มชนชั้นกลางที่ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลเอง หรือไม่อยากไปใช้บริการโรงพยาบาลรัฐเนื่องจากต้องรอคิวพบแพทย์ค่อนข้างนาน อาจจะหันไปเลือกใช้บริการรักษาพยาบาลจากแหล่งอื่นที่มีค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่าโรงพยาบาลเอกชน อาทิ คลินิกรักษาพยาบาล หรือแม้แต่การหันไปซื้อยาทานเองจากร้านขายยา
ดังนั้น การเพิ่มรายได้จากตลาดคนไข้ในประเทศ ผู้ประกอบการธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนอาจจะต้องมองหาแหล่งรายได้ใหม่ๆ นอกเหนือไปจากรายได้หลักจากค่ารักษาพยาบาล ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่ากลุ่มธุรกิจ Non-hospital จะกลายเป็นธุรกิจที่เข้ามาเสริมรายได้ให้กับผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชน อาทิ ธุรกิจอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ เช่น ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ (Nursing Home) หรือธุรกิจบริการอาหารสำหรับผู้ป่วยในโรงพยาบาล รวมถึงธุรกิจร้านขายยา (Pharmacy) ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นและมูลค่าตลาดยังคงขยายตัวต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าในปี 2560 ธุรกิจร้านขายยาจะมีมูลค่าตลาดประมาณ 40,000 ล้านบาท ขยายตัว 8-10% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว โดยปัจจุบันมีร้านขายยาประมาณ 16,000 แห่ง แบ่งเป็นร้านขายยาทั่วไป (Stand-alone) 14,600 แห่ง และร้านขายยาแบบ Chain Store 1,400 แห่ง
ประเด็นสำคัญหากมองในมุมเชิงธุรกิจ จากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน ส่งผลให้ธุรกิจร้านขายยา เป็นหนึ่งในธุรกิจกลุ่ม Non-hospital ที่น่าสนใจในการขยายการลงทุนและมีแนวโน้มขยายตัวได้อีก ซึ่งสอดคล้องกับผลสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า กรณีที่มีอาหารเจ็บป่วยทั่วไป อาทิ ไข้หวัด ปวดหัว ท้องเสีย และไม่มีสวัสดิการเบิกค่ารักษาพยาบาลของเอกชน คนไข้ส่วนใหญ่จะหันไปซื้อยามาทานเองมากขึ้น โดยให้เหตุผลว่า มีความสะดวกรวดเร็วและเสียค่าใช้จ่ายไม่สูงนักเมื่อเทียบกับไปโรงพยาบาลเอกชน และไม่ต้องรอคิวพบแพทย์นานเมื่อเทียบกับโรงพยาบาลรัฐ
หากมองในมุมเชิงสังคม จากพฤติกรรมการรักษาพยาบาลของคนไทยที่เปลี่ยนแปลงไป โดยหันไปซื้อยาทานเองมากขึ้น เป็นการสะท้อนปัญหาความแออัดของการเข้ารับบริการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลรัฐ รวมถึงค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชนที่สูงขึ้น ซึ่งการซื้อยาทานเองอาจจะไม่ใช่การรักษาพยาบาลที่ถูกต้อง แต่ควรจะเป็นการได้รับการรักษาหรือคำแนะนำจากแพทย์
ดังนั้น อาจจะมีความจำเป็นที่จะต้องทบทวนระบบสาธารณสุขของไทย หรือพัฒนาโครงสร้างสาธารณสุขทั้งระบบ โดยเฉพาะการเข้าถึงการรักษาพยาบาลของคนในสังคม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคนไทยที่มีข้อจำกัดทางด้านเวลา เช่น คนที่ประกอบธุรกิจส่วนตัว ทำมาค้าขาย หรือกลุ่มคนไทยที่มีข้อจำกัดทางด้านรายได้ รวมถึงมองไปข้างหน้า ภายใต้บริบทที่ประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์
ดังนั้น รูปแบบการดำเนินธุรกิจร้านขายยาควรจะเป็นไปในลักษณะของการเชื่อมโยงระหว่างโรงพยาบาลที่มีแพทย์ทำการรักษาหรือให้คำแนะนำในการดูแลป้องกันโรคกับร้านขยายาที่จะจำหน่ายยาตามใบสั่งของแพทย์เท่านั้น ซึ่งความร่วมมือดังกล่าว จะเป็นรูปแบบที่เห็นได้ในประเทศที่พัฒนาแล้ว อย่าง สหรัฐฯ หรือยุโรป ที่ร้านขายยาจะจำหน่ายตามใบสั่งแพทย์ในโรงพยาบาลเท่านั้น
- 486 views