รพ.บ้านตาขุน จ.สุราษฎร์ธานี พัฒนาระบบจัดการอัตรากำลังออนไลน์ลดภาระงานบุคลากร ชี้ประหยัดเวลา ถูกต้องแม่นยำ เข้ากับยุค 4.0 หนุนพัฒนาระบบไอทีเชื่อมโยงฐานข้อมูลเพื่อเพิ่มคุณภาพการดูแลผู้ป่วยและการบริหารจัดการ
นพ.เอกพล พิศาล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ้านตาขุน อ.บ้านตาขุน จ.สุราษฎร์ธานี กล่าวว่า โรงพยาบาลได้ประกาศความสำเร็จจากการปรับเปลี่ยนระบบบริหารอัตรากำลังจากเดิมที่เป็นระบบกระดาษ เช่น การจัดตารางเวร การแลกเวร ส่งใบลา หรือการไปประชุมอบรม มาเป็นผ่านระบบออนไลน์ทั้งหมด โดยได้ทดลองมา 2 ปี สามารถลดชั่วโมงทำงานของพยาบาลได้ 2.4 ชั่วโมงต่อ/เตียง/เดือน จากเดิม 1 หน่วยงาน เช่น พยาบาลผู้ป่วยใน ใช้เวลาในการจัดตารางเวร แลกเวร และเตรียมเอกสารส่งเบิกประมาณ 2-3 วันต่อเดือนซึ่งเสียเวลา ผลที่ได้ตรงนี้ทำให้เจ้าหน้าที่ประหยัดเวลาได้มากขึ้น อีกทั้งมีความถูกต้องแม่นยำ ขณะที่บุคลากรก็มีความสุขเพิ่มขึ้นสามารถใช้เวลาไปทำอย่างอื่นได้มากขึ้น อีกทั้งบุคลากรยังสามารถเข้าดูข้อมูลส่วนตัวของตัวเองได้ เช่น ประวัติการลา หรืออบรมต่างๆ
นพ.เอกพล กล่าวว่า โรงพยาบาลได้พัฒนาระบบนี้มาเป็นเวลาเกือบ 2 ปี มีการทดลองจัดตารางเวรของทุกคนผ่านระบบออนไลน์ ช่วงแรกก็ทำไปแก้ไขไป มีปัญหาบ้าง แต่วันนี้ระบบนิ่งแล้วและมีประโยชน์อย่างมากกับทุกฝ่าย ทั้งนี้เมื่อเปลี่ยนฐานข้อมูลจากกระดาษมาเป็นดิจิตอล ผู้บริหารก็สามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลในส่วนนี้ได้ด้วย เพราะสามารถดึงข้อมูลต่างๆ มาวิเคราะห์ได้สะดวก เช่น การวิเคราะห์อัตรากำลัง ความพอเพียงต่างๆ การตัดสินใจของผู้บริหารก็จะไม่ตั้งอยู่บนฐานความรู้สึกอีกต่อไปแต่จะตั้งอยู่บนข้อมูลที่เป็นจริง แต่ถ้าเป็นระบบกระดาษจะมีความซับซ้อน ต้องมานับนิ้ว ซึ่งถ้าหากสามารถต่อยอดการใช้งานในระดับประเทศได้ก็จะสามารถคืนบุคลากรสู่ภาคงานบริการได้มากขึ้น อาจได้พยาบาลกลับคืนสู่ระบบบริการหลายร้อยคนโดยไม่ต้องรอส่งไปเรียน
นพ.เอกพล กล่าวว่า หากกลับมาดูเรื่องฐานข้อมูลผู้ป่วย ปัจจุบันการส่งตัวคนไข้ระหว่างหน่วยบริการยังต้องใช้ใบส่งตัวอยู่ ซึ่งสะท้อนว่าระบบไอทีของเรายังไม่พัฒนาพอหรือยังไม่เสถียรเพียงพอ ยังไม่สามารถเชื่อมโยงข้อมูลกันได้ เลยต้องลอกข้อมูลลงกระดาษซึ่งมีโอกาสผิดพลาด หากพัฒนาได้มากพอการส่งตัวผู้ป่วยโดยเฉพาะผู้ป่วยนอก ใช้แค่บัตรประชาชนก็พอ คนไข้สะดวกมากขึ้น ไม่ต้องกลัวใบส่งตัวหาย ยังไม่นับผลประโยชน์ที่ได้ในเรื่องอื่นๆ เช่น ความปลอดภัยเรื่องการใช้ยา การใช้ยาซ้ำซ้อนของคนไข้ ลดค่าใช้จ่ายจากการตรวจเลือดซ้ำซ้อนระหว่างโรงพยาบาล เป็นต้น
ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ้านตาขุน กล่าวต่อว่า ปัจจุบันแต่ละหน่วยบริการต่างมีฐานข้อมูลของตัวเองคนละชุด อยู่ในเซิร์ฟเวอร์หรือทะเบียนกระดาษของตัวเอง ทำให้การวิเคราะห์ข้อมูลใหญ่ในระดับมหภาคทำได้ยากมาก อาจทำได้แต่เสียเวลามากเพราะต้องส่งหนังสือไปสอบถามหน่วยบริการเพื่อให้ส่งข้อมูลเข้ามาที่ส่วนกลาง เช่น วิเคราะห์ค่าเสื่อม ความพอเพียงหรือพร้อมใช้ของครุภัณฑ์การแพทย์ ความพอเพียงของอัตรากำลัง ระดับประเทศ ซึ่งเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์ในการบริหารจัดการในยุค 4.0
โดยความเห็นส่วนตัวมองว่าต้องมีการลงทุนเพื่อบูรณาการฐานข้อมูลทุกประเภทเข้าสู่ระบบดิจิตอลตั้งแต่ปลายน้ำ เพื่อวิ่งเข้าสู่ฐานข้อมูลเดี่ยวระดับเขตหรือระดับชาติ โดยการพัฒนาระบบนี้ต้องมองความสุขของผู้ใช้งานในทุกระดับ ตั้งแต่ผู้ใช้หน้างาน (user) จนถึงผู้บริหารเพราะนั่นคือความยั่งยืนของระบบฐานข้อมูล
“อยากได้ข้อมูลที่ดี ก็ต้องมีการลงทุนครับ ซึ่งทุนในที่นี้ไม่ได้หมายถึงเงินอย่างเดียว และการพัฒนาระบบไอทีถูกพิสูจน์มาทั่วโลกแล้วว่ามันเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการและลดต้นทุนได้จริง” นพ.เอกพล กล่าว
- 115 views