เครือข่ายแรงงานภูเก็ตเผย นโยบายไม่ขายประกันสุขภาพแก่แรงงานต่างด้าวตั้งครรภ์ ทำให้มีเด็กถูกทิ้งไว้ที่โรงพยาบาลปีละ 10 กว่ารายเพราะพ่อแม่จ่ายเงินค่าทำคลอดไม่ไหว แถมโรงพยาบาลบางแห่งไม่ออกใบรับรองการเกิดให้หากไม่มีเอกสารจากนายจ้าง ส่งผลให้มีเด็กที่ไม่มีสถานะบุคคลแล้วกว่า 100 ราย ชี้หากรัฐไม่เปลี่ยนนโยบายจะมีเด็กไร้สัญชาติในไทยอีกมาก
น.ส.สุมนา ภักบุลวัชร ผู้ประสานงานภาคสนาม ศูนย์พัฒนาสังคม มูลนิธิคาทอลิคสุราษฎร์ธานี (สาขาภูเก็ต) เปิดเผยว่า แนวนโยบายของรัฐเกี่ยวกับการตั้งครรภ์และคลอดบุตรของแรงงานข้ามชาติ ประกอบกับแนวปฏิบัติของโรงพยาบาลบางแห่งใน จ.ภูเก็ต ส่งผลให้เกิดปัญหาเด็กแรกเกิดถูกทิ้งไว้ที่โรงพยาบาลมากขึ้นเรื่อยๆ และก่อให้เกิดปัญหาบุคคลไร้สัญชาติตามมาในอนาคต
น.ส.สุมนา กล่าวว่า แรงงานข้ามชาติใน จ.ภูเก็ต ส่วนใหญ่กว่า 90% เป็นแรงงานสัญชาติพม่า ซึ่งแต่เดิมก่อนปี 2558 นั้น แรงงานข้ามชาติที่ตั้งครรภ์และซื้อบัตรประกันสุขภาพกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ไว้แล้ว เมื่อคลอดบุตร บุตรสามารถใช้สิทธิการรักษาของแม่ได้เป็นเวลาไม่เกิน 28 วัน หลังจากนั้นทางโรงพยาบาลต้องขายบัตรประกันสุขภาพให้แก่เด็กรายละ 365 บาท
อย่างไรก็ดี ตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา โรงพยาบาลใน จ.ภูเก็ต ไม่ขายบัตรประกันสุขภาพแก่แรงงานหญิงที่ตั้งครรภ์ หรือแรงงานที่มีบัตรประกันสุขภาพอยู่แล้ว หากพบว่าตั้งครรภ์ ก็จะไม่ต่ออายุบัตรประกันสุขภาพให้ และเมื่อเด็กคลอดออกมาแล้ว ก็ไม่สามารถใช้สิทธิการรักษาพยาบาลไม่เกิน 28 วันของแม่ได้ อีกทั้งไม่ขายบัตรประกันสุขภาพแก่เด็กเหล่านี้ด้วย
“เราเคยถามโรงพยาบาล โรงพยาบาลบอกว่าไม่ขายเพราะขาดทุน ขณะที่จากการประชุมหารือกับหน่วยงานรัฐในหลายๆเวทีที่ผ่านมา ก็ได้คำตอบว่าที่ไม่ขายเพราะต้องการให้แรงงานเข้ามาทำงาน ไม่ใช่เข้ามาคลอดลูก ถ้าเข้ามาแล้วคลอดลูกกันเยอะก็รับภาระไม่ไหว” น.ส.สุมนา กล่าว
น.ส.สุมนา กล่าวต่อไปว่า แนวนโยบายเช่นนี้ ทำให้เกิดปัญหาตามมา เนื่องจากแรงงานข้ามชาติต้องจ่ายค่าทำคลอดและค่ารักษาต่างๆ เอง 100% สิ่งที่พบคือเมื่อเด็กคลอดแล้วมีร่างกายไม่แข็งแรง น้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ ตัวเหลือง ก็ต้องเข้าตู้อบหรือทำการรักษาเพิ่มเติม ซึ่งทำให้มีค่าใช้จ่ายที่สูง และเกิดปัญหาเด็กถูกทิ้งไว้ที่โรงพยาบาลเนื่องจากพ่อแม่ไม่มีเงินมาจ่าย กลัวว่าหากไม่จ่ายแล้วจะถูกยึดพาสปอร์ตหรือถูกผลักดันกลับประเทศต้นทาง
“เด็กที่เกิดจากแรงงานข้ามชาติ ส่วนใหญ่ 75% จะตัวเหลือง น้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ หรือหายใจผิดปกติ สมมุติถ้าต้องเข้าตู้อบ ก็วันละ 1,800 บาท ถ้าต้องเข้า 10-20 วันก็เป็นค่าใช้จ่ายที่สูง อย่างล่าสุดมีเคสหนึ่งไปคลอดที่โรงพยาบาลวชิระภูเก็ตแล้วมีค่าคลอด 4 หมื่นบาท ลูกก็น้ำหนักตัวน้อย ต้องเข้าห้อง ICU ค่ารักษาลูกอีก 6 หมื่นบาท ทางแม่ก็มาร้องห่มร้องไห้ว่าจะทำอย่างไรดี เดิมแรงงานสามารถใช้สิทธิประกันสุขภาพได้ เด็กก็ใช้สิทธิของแม่ได้ แต่พอปี 2558 เป็นต้นมา ก็ไม่สามารถใช้สิทธินี้ได้ และแรงงานข้ามชาติก็ไม่ทราบเรื่องนี้ พอไม่ทราบก็ต้องแบกค่าใช้จ่ายเอง พอค่าใช้จ่ายสูงก็มีเด็กถูกทิ้งเรื่อยๆ แต่ละปีมีประมาณ 10 กว่ารายได้ ยิ่งในระยะหลังตัวเลขยิ่งมากขึ้น เฉพาะปีนี้ ที่โรงพยาบาลวชิระภูเก็ตแห่งเดียวมีเด็กถูกทิ้งแล้ว 4-5 ราย รายล่าสุดเด็กยังอยู่ที่โรงพยาบาล แต่พ่อแม่หนีกลับพม่าไปแล้ว” น.ส.สุมนา กล่าว
ทั้งนี้ เด็กที่ถูกทิ้งไว้ที่โรงพยาบาล หากตามตัวพ่อแม่ไม่พบ จะมีปัญหาไม่สามารถแจ้งสัญชาติเกิดได้ แม้จะถูกส่งตัวไปสถานสงเคราะห์แต่ก็เลี้ยงได้แต่ตัว แต่ไม่สามารถหาพ่อแม่บุญธรรมให้ได้เพราะไม่มีสถานะตามกฎหมาย เด็กก็จะเติบโตมาในประเทศไทยแบบคนไร้สัญชาติ และจะกลับประเทศต้นทางก็ไม่ได้อีก
“หากแนวนโยบายเป็นแบบนี้ จะทำให้ปัญหาเด็กถูกทิ้งมีมากขึ้นเรื่อยๆ” น.ส.สุมนา กล่าว
นอกจากปัญหาเด็กถูกทิ้งแล้ว ในพื้นที่ จ.ภูเก็ต ยังพบปัญหาว่าโรงพยาบาลแห่งหนึ่งเรียกเก็บเอกสารจากนายจ้าง อาทิ สำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน เพื่อนำไปประกอบการขอใบรับรองการเกิดของบุตรแรงงานข้ามชาติ ทั้งที่ตามกฎหมายแล้วไม่จำเป็นต้องใช้เอกสารจากนายจ้างแต่อย่างใด
น.ส.สุมนา กล่าวว่า ปัญหานี้ มีที่มาคือในอดีตมีกลุ่มคนแอบอ้างเป็นตัวแทนเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลไปเรียกเก็บค่าขอใบรับรองการเกิดจากแรงงานข้ามชาติ ทำให้โรงพยาบาลต้องออกมาตรการด้วยการขอเอกสารจากนายจ้างด้วย ซึ่งในทางปฏิบัติ นายจ้างบางคนก็ไม่ให้เอกสาร เพราะเรื่องนี้ไม่เกี่ยวข้องกับนายจ้าง ทำให้เด็กบางส่วนไม่สามารถขอใบรับรองการเกิดจากโรงพยาบาลได้
“ปัญหานี้มีมา 4-5 ปีแล้ว เด็กที่ได้รับผลกระทบมีประมาณ 100 กว่ารายที่ไม่มีใบรับรองการเกิด ทำให้ไม่มีสถานะบุคคล และเติบโตในประเทศไทยแบบคนไร้สัญชาติ จะกลับประเทศต้นทางก็ไม่ได้เพราะไม่มีเอกสารบ่งบอกรากเหง้าว่าพ่อแม่เป็นใคร” น.ส.สุมนา กล่าว
น.ส.สุมนา กล่าวอีกว่า ทั้ง 2 ประเด็นปัญหาข้างต้นนี้ อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมกันหาทางออกว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร เช่น ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขอาจต้องเพิ่มการให้ความรู้ในเรื่องการคุมกำเนิดแก่แรงงานข้ามชาติมากขึ้น ทั้งผ่านโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหรือผ่านนายจ้าง
“การไม่ขายบัตรประกันสุขภาพให้แรงงานที่ตั้งครรภ์ ไม่ได้ทำให้การตั้งครรภ์น้อยลง เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าการคลอดบุตรเป็นธรรมชาติของมนุษย์ ถามว่าแรงงานอยากมีลูกไหม ส่วนใหญ่ก็ไม่อยากมี แต่ที่มีคือมันพลาด คนกลุ่มนี้ยังขาดความรู้ในเรื่องการคุมกำเนิด และแรงงานส่วนใหญ่ก็อยู่ในวัยเจริญพันธุ์ทั้งนั้น” น.ส.สุมนา กล่าว
- 700 views