โรงพยาบาลหญิง เป็นชื่อของโรงพยาบาลเฉพาะสตรีและเด็ก ถือกำเนิดครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 เมษายน 2494 ตามมติคณะรัฐมนตรีในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เพื่อให้เป็นโรงพยาบาลเฉพาะสตรีและเด็กแห่งแรกของประเทศไทย มี นพ.ประพนธ์ เสรีรัตน์ ดำรงตำแหน่งรักษาการผู้อำนวยการ และอีกเดือนต่อมา นพ.เสม พริ้งพวงแก้ว ได้รับแต่งตั้งให้เป็น ผู้อำนวยการโรงพยาบาล กล่าวกันว่า นพ.เสม ได้พัฒนาโรงพยาบาลหญิงจนได้รับความนิยมและไว้วางใจจากประชาชนมาเข้ารับการรักษาเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการผ่าตัดแฝดสยาม วันดี ศรีวัน แยกออกจากกันสำเร็จเป็นครั้งแรกในประเทศไทย สร้างชื่อเสียงให้กับโรงพยาบาลหญิงเป็นอย่างมาก

โรงพยาบาลหญิง แรกเริ่มเปิดทำการเป็นโรงพยาบาลเฉพาะสตรีและเด็ก ดูแลผู้ป่วยสตรีโดยเฉพาะการผดุงครรภ์และอนามัยแม่และเด็ก สำหรับผู้ป่วยเด็กมีแผนกเด็กแยกต่างหาก ซึ่งแผนกเด็กในโรงพยาบาลหญิงขณะนั้นมีเตียงรับผู้ป่วยเด็กเพียง 25 เตียง ต่อมาในปี พ.ศ. 2496 รัฐบาลได้อนุมัติเงินงบประมาณในการก่อสร้างอาคารแผนกเด็ก และสามารถขยายงานการดูแลผู้ป่วยเด็กหลายสาขา รับผู้ป่วยได้ 137 เตียง และให้ชื่อว่า“โรงพยาบาลเด็ก” กระทั่งในเวลาต่อมาได้ยกฐานะเป็นกองโรงพยาบาลเด็ก กรมการแพทย์

กล่าวได้ว่าโรงพยาบาลเด็กนับเป็นสถาบันแรกๆ นอกมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ที่ได้จัดให้มีการฝึกอบรมวิชาโรคเด็กขึ้น ซึ่งระยะแรกได้รับความช่วยเหลือร่วมมือเป็นอย่างดียิ่งจากคณาจารย์ภาควิชากุมารคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เหตุผลที่ทำให้มีการอบรมแพทย์โรคเด็กเพราะผู้ป่วยเด็กมีจำนวนมากขึ้นและมีอัตราตายสูงมากเมื่อเทียบกับประเทศที่เจริญแล้วโดยเฉพาะเด็กเกิดใหม่

ต่อมาในปี พ.ศ.2519 หรือ 22 ปี หลังจากโรงพยาบาลหญิงเริ่มเปิดทำการ คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้โรงพยาบาลหญิงเปลี่ยนเป็นโรงพยาบาลที่รักษาโรคทั่วไปไม่จำกัดเฉพาะเพศและอายุอีกต่อไป ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานนามใหม่ว่า “โรงพยาบาลราชวิถี”

นับแต่นั้นมาโรงพยาบาลราชวิถีได้พัฒนางานด้านการแพทย์และสาธารณสุขมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี พ.ศ.2525 มีการก่อสร้างอาคารพิเคราะห์โรคและบำบัดผู้ป่วยเป็นอาคารขนาดใหญ่สูง 12 ชั้น ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานนามอาคารว่า “ตึกสิรินธร” อาคารหลังนี้ มีความสำคัญต่อโรงพยาบาลมากเพราะสามารถอำนวยประโยชน์ให้แก่ผู้ป่วยเป็นจำนวนมาก

ในปีพ.ศ.2531 มีการจัดตั้งศูนย์โรคหัวใจเพื่อสร้างมาตรฐานการรักษาและป้องกันโรคหัวใจโดยเฉพาะ เนื่องจากเป็นโรคที่มีอุบัติการสูงสุดเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ ศูนย์โรคหัวใจนี้ทำชื่อเสียงให้กับโรงพยาบาลเป็นอย่างมากเพราะสามารถผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจและปอดพร้อมกันที่เรียกว่า Domino Heart Transplantation ได้สำเร็จเป็นครั้งแรกในประเทศไทยและทวีปเอเชีย ต่อมาได้พัฒนาเป็นสถาบันโรคหัวใจสังกัดกรมการแพทย์เพื่อรองรับนโยบายสาธารณสุข

ในปี พ.ศ.2532 จัดตั้งศูนย์โรคนิ่วทางเดินปัสสาวะ ซึ่งสามารถให้การตรวจรักษาผู้ป่วยโรคนิ่วและระบบทางเดินปัสสาวะได้ในทุกระดับความรุนแรงของโรค

และในปี พ.ศ.2537 เปิดตึกอุบัติเหตุและฉุกเฉิน ก่อสร้างอาคารบำบัดน้ำเสีย และวางโครงการก่อสร้างอาคารที่จอดรถ ขนาดใหญ่ 12 ชั้น ภายในประกอบด้วย หอประชุมใหญ่ ลานจอดรถ โรงอาหาร สำนักงาน และศูนย์กีฬาเพื่อเป็นสวัสดิการเจ้าหน้าที่

กล่าวได้ว่า 40 กว่าปีของโรงพยาบาลราชวิถี จากโรงพยาบาลหญิงแห่งแรกของประเทศไทยก้าวไปสู่โรงพยาบาลที่พร้อมด้วยประสบการณ์และศักยภาพด้านสาธารณสุข ปัจจุบันโรงพยาบาลราชวิถีนับเป็นโรงพยาบาลศูนย์วิชาการที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข

เก็บความจาก ประวัติโรงพยาบาลราชวิถีและสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี

แหล่งที่มา

http://www.rajavithi.go.th/rj/?page_id=427&lang=Th

http://www.childrenhospital.go.th/html/2014/