พยาบาลวิชาชีพ รพ.สต.เหล่าเสือโก้ก โอด ระเบียบการเบิกเงินดูแลผู้สูงอายุภาวะพึ่งพิงตามนโยบาย สธ.ไม่สอดคล้องกับการปฏิบัติงานจริงในพื้นที่ เสนอให้ส่วนกลางจัดทำ “ชุดสิทธิประโยชน์” อะไรเบิกได้-ไม่ได้ ย้ำไม่ใช่หน้าที่ผู้ปฏิบัติงานซอยงบประมาณตามเกณฑ์ สตง.
นางนงคราญ แสงโชติ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เหล่าเสือโก้ก จ.อุบลราชธานี กล่าวถึงนโยบายขับเคลื่อนแผนพัฒนาดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง ปี 2559 ของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ว่า สธ.มีนโยบายนำร่องให้ดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง 1 แสนคน ใน 1,000 ตำบล โดยให้งบประมาณดำเนินการเฉลี่ยหัวละ 5,000 บาท เบื้องต้นจึงเริ่มจากแบ่งผู้สูงอายุออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มติดสังคม 2.กลุ่มติดบ้าน 3.กลุ่มติดเตียง
สำหรับกลุ่มผู้สูงอายุติดสังคมได้ดำเนินการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ขณะที่กลุ่มติดบ้านและติดเตียงนั้น ได้จำแนกออกเป็น 4 กลุ่มย่อย เพื่อง่ายต่อการดูแล ประกอบด้วย
1.ผู้สูงอายุที่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้บ้าง อาจมีปัญหาเรื่องการกลืนหรือขับถ่ายแต่ไม่มีภาวะสับสนทางสมอง โดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ให้วงเงินดูแลกลุ่มนี้ไม่เกินหัวละ 4,000 บาท ในทุกๆ กิจกรรม
2.ผู้สูงอายุที่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้บ้างและมีภาวะสับสนทางสมอง เช่น ผู้ป่วยอัลไซเมอร์ ซึ่งจะดูแลได้ภายใต้งบประมาณไม่เกิน 6,000 บาท
3.ผู้สูงอายุติดเตียงที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ แต่ไม่มีอาการเจ็บป่วยรุนแรงในระยะสุดท้ายของชีวิต ซึ่งจะได้รับงบประมาณดูแลไม่เกิน 8,000 บาท
4.ผู้สูงอายุที่อยู่ในระยะท้ายของชีวิต ได้งบประมาณดูแลไม่เกิน 1 หมื่นบาท
นางนงคราญ กล่าวว่า โครงสร้างการทำงานก็จะมีนักบริบาลผู้สูงอายุ (Care Giver : CG) เป็นผู้ขับเคลื่อนงาน สัดส่วน CG 1 คน ต่อผู้สูงอายุ 9-12 คน โดยกองทุนหลักประกันสุขภาพตำบลเหล่าเสือโก้ก (Long Term Care) จะมีหน่วยบริการ 2 ส่วน ได้แก่ โรงพยาบาลชุมชนเหล่าเสือโก้ก มี CG 2 คน ดูแล 3 หมู่บ้าน และ รพ.สต.เหล่าเสือโก้ก มี CG 8 คน ดูแล 9 หมู่บ้าน มีผู้ป่วยรวมทั้งหมด 99 ราย ได้รับงบประมาณทั้งสิ้น 495,000 บาท (ถัวเฉลี่ยหัวละ 5,000 บาท)
นอกจาก CG แล้ว ยังมีผู้จัดการนักบริบาลผู้สูงอายุ (Care Manager : CM) ทำหน้าที่วางแผนให้ CG ปฏิบัติงานในพื้นที่
นางนงคราญ กล่าวว่า จากนั้นก็เป็นเรื่องการนำงบประมาณออกมาปฏิบัติงาน ซึ่งงบประมาณก็จะโอนเข้ามาที่กองทุน Long Term Care เทศบาลตำบลเหล่าเสือโก้ก โดยมีคณะกรรมการกองทุนทั้งสิ้น 10 ราย แบ่งเป็น สัดส่วนองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น (อปท.) 4 ราย สัดส่วน สปสช. 2 ราย สัดส่วนสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) 2 ราย และสัดส่วนหน่วยบริการ 2 ราย
ทั้งนี้ เมื่องบประมาณถูกโอนเข้ามายังกองทุน Long Term Care แล้ว ในช่วงแรกคณะกรรมการก็มืด 8 ด้าน เพราะไม่รู้ว่าจะใช้เงินอย่างไร ขณะที่งบประมาณก็ถูกโอนมาเกือบไตรมาสที่ 3 ของปี 2559 จึงยึดตามระเบียบ สปสช.ที่ระบุว่า ที่สุดแล้วให้ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของคณะกรรมการทั้ง 10 ราย แต่ต้องไม่เกินกรอบวงเงินที่ สปสช.กำหนด
นางนงคราญ กล่าวอีกว่า คณะกรรมการจึงต้องมาคุยกันและกำหนดการแบ่งเงินร่วมกัน โดยแบ่งออกเป็น
1.ค่าบริหารจัดการหรือค่าบริการทางการแพทย์ ซึ่งตอบแทนหน่วยบริการครั้งละ 50 บาท
2.ซื้อวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้กับผู้สูงอายุ ซึ่งก็จะดูตามหน้างานของ care plan เช่น ผู้สูงอายุที่มีโครงสร้างร่างกายไม่แข็งแรง ปวดข้อ เดินลำบาก ก็ต้องซื้อไม้เท้าเพื่อช่วยพยุงร่างกาย ถ้ามีปัญหาการนั่งส้วมก็จะซื้อส้วมเก้าอี้นั่งให้ แต่ปัญหาก็คือผู้สูงอายุหลายรายจำเป็นต้องใช้ผ้าอ้อมสำหรับผู้ใหญ่ แต่กลับไม่มีในชุดสิทธิประโยชน์ของ สปสช. หากใช้เงินซื้อสิ่งนี้ก็อาจเข้าข่ายผิดระเบียบและมีโอกาสถูกสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบ
“ปัญหาของการทำงานก็คืออุปกรณ์ที่จำเป็นไม่สอดคล้องกับชุดสิทธิประโยชน์ที่กำหนด ส่วนตัวคิดว่า สธ.ควรจะเป็นผู้กำหนดลงมาเลยว่าฝ่ายปฏิบัติการสามารถเบิกอะไรได้บ้างภายใต้กรอบงบประมาณเท่าใด คือจัดทำเป็นรายการมาให้อย่างชัดเจน ไม่เช่นนั้นจะเป็นปัญหาให้กับผู้ปฏิบัติงานต้องศึกษาว่าอะไรทำได้ อะไรผิดระเบียบ หรือผู้ปฏิบัติต้องมานั่งซอยเงินเองว่าในงบหัวละ 4,000 บาท จะทำอะไรได้บ้าง โดยที่ไม่ผิดระเบียบ สตง.” นางนงคราญ กล่าว
3.ค่าตอบแทนสหสาขาวิชาชีพ ซึ่งกำหนดไว้ใน care plan ว่าสามารถเบิกได้ 120 บาท ต่อการออกเยี่ยมผู้ป่วย 1 ครั้ง/1ราย แต่พอมาเบิกจริงๆ กลับถูกบีบด้วยระเบียบทางการเงินของ รพ.สต. โดยเบิกได้จริงเพียงวันละ 120 บาทเท่านั้น ทั้งๆ ที่ภาระงานคือต้องออกเยี่ยมผู้ป่วยวันละ 3-4 ราย นั่นจึงไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง และก็มีเงินค้างท่ออยู่ในกองทุนอย่างไม่เกิดประโยชน์
“ถ้าจะเบิกเป็นโอทีก็ทำไม่ได้ ทั้งๆ ที่ทำงานเสาร์-อาทิตย์ แต่กลับเบิกได้เฉพาะในเวลาราชการ สรุปก็คือระเบียบของหน่วยงานไม่เอื้อต่อการทำงาน อย่างไรก็ตามล่าสุด รมว.สาธารณสุข ได้ลงมาเยี่ยม และได้รับเรื่องไปว่าจะช่วยเคลียร์ปัญหาให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน” นางนงคราญ กล่าว
นางนงคราญ กล่าวว่า สำหรับข้อเสนอในการแก้ไขปัญหา คงไม่สามารถใช้พื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งสะท้อนปัญหาของทั้งประเทศได้ เนื่องจากแต่ละพื้นที่ก็มีบริบทที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้นจำเป็นต้องสร้างเวทีใหม่ให้ผู้ปฏิบัติงาน ทั้ง CM และ CG มาคุยกัน อาจจัดเป็นภาค หรือจัดเป็นเขต เพื่อหาแนวทางร่วมกันระหว่างผู้ปฏิบัติงานระดับล่าง จากนั้นจึงเสนอขึ้นไปให้ สธ.พิจารณา ซึ่งย่อมดีกว่าที่ สธ.เป็นผู้จัดการให้จากข้างบน และไม่ตอบโจทย์พื้นที่
- 206 views