หลังจาก นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช. 2 สมัย ผู้ซึ่งถูกคำสั่งมาตรา 44 ให้ไปช่วยราชการที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขตั้งแต่ มิ.ย.58 จนกระทั่งหมดวาระการดำรงตำแหน่งเลขาธิการ สปสช.สมัยที่ 2 เมื่อ พ.ค.59 ก็ยังไม่มีคำสั่งให้กลับคืนตำแหน่ง ซึ่งจนถึงทุกวันนี้เจ้าตัวก็ยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงของการการถูกคำสั่งครั้งนั้น ไม่เคยมีการชี้แจงใด แม้เข้าพบระดับแกนนำของรัฐบาลก็ไม่เคยได้รับคำตอบที่แน่ชัด
ขณะที่ผลการตรวจสอบที่เคยระบุว่า สปสช.ใช้เงินกองทุนผิดวัตถุประสงค์ที่คาดหมายกันว่าน่าจะเป็นสาเหตุหนึ่งของการถูกคำสั่ง ม. 44 นั้น จุดพีคของเรื่องนี้ก็มาอยู่ตรงที่ คสช.เองกลับมีคำสั่ง ม.44 ให้สิ่งที่เคยสั่งไม่ให้ สปสช.ทำ สามารถกลับมาทำได้ เพราะได้รับรายงานว่าทำให้หน่วยบริการได้รับผลกระทบจนไม่สามารถให้บริการผู้ป่วยได้
ระหว่างที่บอร์ด สปสช.กำลังสรรหาเลขาธิการ สปสช.คนใหม่นั้น hfocus ได้สัมภาษณ์ นพ.วินัย ต่อมุมมองการทำงานที่ผ่านมา และอนาคตของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าท่ามกลางข้อเสนอมากมายเพื่อการปรับเปลี่ยนระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าซึ่งทุกฝ่ายที่เสนอมาล้วนบอกว่าทำไปเพื่อประชาชน
นพ.วินัย สวัสดิวร
มองย้อนกลับไปในวันแรกที่เข้ารับตำแหน่งเลขาธิการ สปสช. ตั้งเป้าหมายอย่างไร?
นพ.วินัย : ได้ตั้งเป้าหมายการทำงานที่เป็นหลักการสำคัญระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า คือ 1.ทำระบบเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการ 2.บริการที่ได้รับต้องมีคุณภาพและมาตรฐาน และ 3.ไม่อยากเห็นคนไทยยากจนและเป็นหนี้สินจากการรักษา แต่จะบรรลุทั้ง 3 เป้าหมายนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเป็นเรื่องเชื่อมโยงกัน เพราะหากจะทำให้ประชาชนไม่ล้มละลายจากค่ารักษาได้ ต้องทำให้ประชาชนเลือกใช้สิทธิระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า นั่นหมายถึงประชาชนต้องเข้าถึงบริการได้ โดยเชื่อมั่นต่อคุณภาพและมาตรฐานการรักษา ซึ่งตลอด 8 ปีได้พยายามเรื่องนี้ แม้ว่าภาพรวมดีขึ้น ประชาชนเข้ารับบริการเพิ่มขึ้น แต่ยังมีเรื่องต้องทำอีกมาก
อะไรที่เป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ความตั้งใจแรกเริ่มไม่บรรลุเป้าหมาย?
นพ.วินัย : ปัญหาสำคัญของการดำเนินระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า มาจากความไม่เพียงพอของบริการ โดยเฉพาะต่างจังหวัดที่ต้องอาศัยหน่วยบริการรัฐที่มีจำกัดเป็นหลัก การจะขยายบริการให้เพียงพอและครอบคลุมการรักษาโรคยากซับซ้อน ต้องอาศัยการลงทุนมากที่มีข้อจำกัดงบประมาณลงทุน ขณะเดียวกันยังมีปัญหาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและบุคลากรทางการแพทย์ที่กระจุกในตัวเมือง ขณะที่ด้านความร่วมมือภาคเอกชนในการบริการด้วยงบเหมาจ่ายรายหัวจำกัด จึงไม่จูงใจให้ภาคเอกชนเข้าร่วมดูแลผู้ป่วยในระบบ ข้อจำกัดเหล่านี้ให้ระบบมีปัญหาการเข้าถึงการรักษา ส่งผลให้ประชาชนส่วนหนึ่งยอมเป็นหนี้เป็นสินโดยจ่ายเงินเองเพื่อเข้าถึงการรักษา ดังนั้นสิ่งสำคัญคือต้องพัฒนาระบบให้มีคุณภาพเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตามยอมรับว่า 8 ปีในหน้าที่เลขาธิการ สิ่งที่ทำไม่ได้คือทำให้ผู้บริหารประเทศเข้าใจและมองว่าค่าใช้จ่ายสุขภาพที่ให้ประชาชนต้องถือเป็นการลงทุน ไม่ใช่ภาระแบกรับ ทุกรัฐบาลต่างมองเป็นภาระหมด จึงส่งผลต่อการจัดสรรงบประมาณและการลงทุนในระบบ ทั้งที่ประเทศพัฒนาแล้วต่างมองเรื่องการรักษารวมถึงการศึกษาเป็นการลงทุน เพราะเมื่อประชาชนไม่ต้องกังวลต่อการรักษาและการศึกษาของคนในครอบครัว จะส่งผลดีต่อการทำงาน นั่นหมายถึงผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ
มองอย่างไรกับบทบาทเลขาธิการ สปสช. ในการบริหารองค์กร สปสช.?
นพ.วินัย : สปสช.เป็นองค์กรบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ดูแลสิทธิรักษาพยาบาลให้ประชาชน 48 ล้านคน เมื่อขยับเรื่องใดย่อมมีผลกระทบต่องบประมาณประเทศ ดังนั้นการบริหารจัดการต้องเข้าใจทุกภาคส่วนเพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกัน และต้องรู้จักเจรจาต่อรอง ซึ่งช่วง 8 ปีของการเป็นเลขาธิการ สปสช. การเมืองมีการปรับเปลี่ยนหลายรัฐบาล และต้องทำงานกับ รมว.สาธารณสุขถึง 9 คน แต่ละคนก็มีมุมมอง วิธีบริหารจัดการที่แตกต่างกัน ไม่รวมปลัดกระทรวงสาธารณสุขที่ได้มีการปรับเปลี่ยนเช่นกัน ตรงนี้ถือเป็นความยาก เพราะต้องทำงานร่วมกันให้ได้ โดยเฉพาะในช่วงความขัดแย้งเพื่อให้ระบบเดินไปได้
มีความเห็นอย่างไรกับการตรวจสอบ สปสช. ในช่วงหลังที่เข้มข้นมาก ?
นพ.วินัย : เนื่องจากเราเป็นองค์กรบริหารงบประมาณแสนล้าน โดยช่วงแรกจัดตั้ง สปสช. การตรวจสอบยังอยู่ในระดับประเทศ แต่ภายหลังการตรวจสอบลงได้ลงไปยังพื้นที่ และพบปัญหาการใช้จ่ายในช่วงที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทำหน้าที่สำนักงานสาขาจังหวัด สปสช. แต่เมื่อเกิดปัญหาขึ้นจึงปฏิเสธไม่ได้ แต่ภาพที่ออกมาคือ สปสช.ใช้เงินไม่ตรงวัตถุประสงค์ ในฐานะซีอีโอจะทำอย่างไร เมื่อเป็นเลขาธิการ สปสช.จึงมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบ แม้ว่าในหลายเรื่องจะเป็นการดำเนินการตามมติที่มีมาแต่เดิมก็ตาม
จากคำสั่ง ม.44 ย้ายช่วยงานสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ผลสอบออกมาไม่พบทุจริต แต่ไม่มีคำสั่งย้ายกลับจนหมดวาระลง?
นพ.วินัย : มองว่าเป็นธงที่ถูกตั้งไว้อยู่แล้ว เพราะบทบาท สปสช.ที่ยืนข้างประชาชน จึงทำให้ภาระงานผู้ให้บริการมากขึ้น สร้างความอึดอัดกับหน่วยบริการได้ เมื่อมีผู้นำที่ขึ้นมาและมีคอนเนคชั่นกับรัฐบาลจึงเกิดกลไกเข้ามาจัดการ หากถามว่ารู้สึกอย่างไรกับเรื่องนี้ คิดว่าทำไมต้องเป็นเรา เพราะที่ผ่านมาได้ตั้งใจทำงานด้วยดี แต่คิดมุมบวก ถือเป็นประสบการณ์ชีวิต อย่างไรก็ตามภายใต้สถานการณ์นี้มองว่า สปสช.ควรประคองตัวไปก่อน หากมีโอกาสรัฐบาลหน้าจึงเสนอแนวทางพัฒนาระบบใหม่
จากการทำหน้าที่เลขาธิการฯ มองเห็นอะไรใน สปสช.บ้าง และ สปสช.ควรเดินหน้าอย่างไร?
นพ.วินัย : จุดเด่น สปสช.ที่ต้องรักษาไว้ คือการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน มีการถกเถียงในที่ประชุมเพื่อให้เกิดการมองเรื่องต่างๆ อย่างรอบด้าน แต่ที่ห่วงจากนี้คือความเป็นอิสระ สปสช.เดิมถูกจัดวางเป็นองค์กรอิสระเพื่อให้เกิดความคล่องตัวบริหาร แต่จากกลไกตรวจสอบในช่วงที่ผ่านมา โดยหน่วยงานซึ่งทำหน้าที่ตรวจสอบที่มุ่งควบคุมความเป็นอิสระองค์กร จะให้ สปสช.ทำงานยากขึ้น
ในแง่สวัสดิการ สปสช.เมื่อเปรียบเทียบกับราชการสู้ไม่ได้ ทั้งการรักษาพยาบาลและบำเหน็จบำนาญ ซึ่งอนาคตจะขาดคนเก่งมาร่วมงาน จึงคิดว่า สปสช.ควรปรับโครงสร้างเป็นหน่วยงานราชการสังกัดกระทรวงการคลังแทน ตั้งเป็น “สำนักงานการคลังสาธารณสุข” มีสถานะเทียบเท่ากรมหนึ่งในกระทรวงการคลังเลย ทำหน้าที่จัดหาบริการสาธารณสุขสำหรับประชาชนและต่อรอง โดยผู้บริหารอาจไม่ต้องเป็นหมอ แต่ต้องเรียนการคลังสาธารณสุข เพื่อให้เข้าใจเรื่องของระบบและกลไกการจัดหาบริการเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการรักษา
อย่างไรก็ตามผลดำเนินงาน สปสช. 14 ปีที่ผ่านมา นอกจากผู้ป่วยได้รับบริการเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มโรคค่าใช้จ่ายสูง อย่างผ่าตัดหัวใจ ผ่าตัดตาต้อกระจก เปลี่ยนถ่ายอวัยวะ เป็นต้น และโรคเรื้อรังที่ต้องได้รับการรักษาต่อเนื่อง อย่างเอดส์ ไตวายเรื้อรังแล้ว ยังมีงานคุ้มครองสิทธิ การพัฒนาสายด่วน 1330 เพื่อแก้ปัญหา ทั้งยังเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการในการบริหารกองทุนรักษาพยาบาลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อให้ผู้มีสิทธิเข้าถึงการรักษาเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นการแสดงศักยภาพการบริหารของ สปสช.
ฝากอะไรถึงผู้ที่จะเข้ามาทำหน้าที่เลขาธิการ สปสช.คนใหม่ ?
นพ.วินัย : การทำหน้าที่นี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเป็นองค์กรที่มีผลกระทบมาก จึงมีภาคส่วนที่ต้องทำงานด้วยหลากหลาย ทั้งต้องทำงานกับการเมืองได้ รู้จักเจรจาต่อรอง และที่สำคัญคือต้องทำงานกับผู้ให้บริการที่เป็นกลไกสำคัญขับเคลื่อนระบบ ทั้งนี้ สปสช.มีทุนที่ดี มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคประชาชนที่สนับสนุน เข้าใจบทบาท สปสช. นอกจากนี้ยังต้องเดินหน้าความร่วมมือกับภาคเอกชน ดึงให้ร่วมบริการในระบบ เพราะที่ผ่านมาชัดเจนว่า เพียงแค่บริการโดยหน่วยงานภาครัฐไม่สามารถจัดการให้ประชาชนเข้าถึงบริการได้
ขณะเดียวกันการดูแลสำนักงานก็เป็นเรื่องใหญ่ ความเป็นองค์กรอิสระแบบนี้ต้องเข้าใจจุดอ่อนจุดแข็ง และอาจต้องทำการทบทวน เพราะขณะนี้ต้องยอมรับว่าสถานการณ์ที่เป็นอยู่ทำให้ความอิสระขององค์กรเหลือน้อยลงทุกที จะขยับทำเรื่องอะไรทำได้ยากและกลายเป็นจุดอ่อน
สุดท้ายนี้ขอฝากถึงเจ้าหน้าที่ สปสช.ทุกคน ขอให้ภูมิใจกับการมาทำงานที่นี่ สปสช.เป็นองค์กรที่ทำงานมีประสิทธิภาพ มีจุดยืนชัดเจนคือเป็นองค์กรรัฐที่เป็นตัวแทนประชาชน ทำหน้าที่แทนประชาชน เพื่อประชาชน มีวัฒนธรรมองค์กรที่ดีคือไม่ได้มีระบบเป็นเจ้าขุนมูลนาย สามารถแสดงความคิดเห็นได้ นอกจากนี้ที่สำคัญคือ สปสช.เป็นองค์กรที่ไม่มีปัญหาการทุจริตคอรัปชั่น ผลตรวจสอบที่ผ่านมาทั้งหมดยืนยันได้ มีการตรวจสอบว่าใช้เงินกองทุนไม่ต้องตามวัตถุประสงค์ ก็เป็นเพราะการตีความกฎหมายที่ต่างกัน และผลสุดท้ายแม้แต่ คสช.ก็ต้องออกคำสั่งแก้ให้ สปสช.ดำเนินการจ่ายเงินได้ตามเดิมในประเด็นที่เคยบอกว่าบอร์ด สปสช.และ สปสช.ใช้ไม่ถูกวัตถุประสงค์ เพราะเห็นปัญหาแล้วว่ากระทบกับการให้บริการรักษาพยาบาลของประชาชน ดังนั้นคุณจะไม่ถูกขอร้องให้ทำอะไรที่ไม่ถูกต้องและมีปัญหาได้ เหล่านี้เป็นสิ่งที่แม้แต่ตัวเองยังรู้สึกภูมิใจในความเป็น สปสช.
สัมภาษณ์โดย: ภัทรภร นิภาพร pingni1997@gmail.com
- 199 views