กรมควบคุมโรคเผยคนไทย 13 ล้านคนป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูง แต่มีเพียงร้อยละ 44 เท่านั้น ที่ทราบว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูง ทำให้ผู้ป่วยไม่ได้เข้าสู่ระบบการดูแลรักษา ที่สำคัญโรคความดันโลหิตสูงยังเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมอง โรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคไต อันเป็นสาเหตุถึงขั้นรุนแรงที่ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้
นพ.อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สมาพันธ์ความดันโลหิตสูงโลก ได้กำหนดให้วันที่ 17 พฤษภาคม ของทุกปีเป็นวันความดันโลหิตสูงโลก ทั้งนี้โรคความดันโลหิตสูง เป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญในระดับโลกและระดับประเทศ โดยสถานการณ์ทั่วโลก พบว่ามีผู้ที่มีความดันโลหิตสูงเกือบถึงพันล้านคน และมีเพียงร้อยละ 50 เท่านั้นที่รู้ตัวว่าป่วย จึงเป็นที่มาในการกำหนดประเด็นการรณรงค์ของปีนี้ คือ “Know Your Numbers” หรือ “ท่านทราบระดับความดันโลหิตของตนเองหรือไม่”
ในประเทศไทย พบผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยในปี 2557 ประชาชนไทย อายุ 15 ปีขึ้นไป เป็นโรคความดันโลหิตสูงประมาณร้อยละ 25 หรือคนไทย 1 ใน 4 คน เป็นโรคความดันโลหิตสูงนั่นเอง คิดเป็นจำนวนผู้ที่มีความดันโลหิตสูงประมาณ 13 ล้านคน ซึ่งมีเพียงร้อยละ 44 เท่านั้น ที่ทราบว่าตนเองเป็นโรคความดันโลหิตสูง ทำให้ผู้ป่วยไม่ได้เข้าสู่ระบบการดูแลรักษา
ที่สำคัญโรคความดันโลหิตสูงยังเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมอง โรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคไต อันเป็นสาเหตุถึงขั้นรุนแรงที่ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ คนไทยเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมองประมาณ 60,000 ราย โรคหลอดเลือดหัวใจประมาณ 40,000 ราย และโรคไตประมาณ 14,000 ราย โรคความดันโลหิตสูงมีค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่สูง หากคนไทยป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูง จำนวน 10 ล้านคน จะสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลถึงประมาณ 80,000 ล้านบาทต่อปี
นพ.อำนวย กล่าวต่อว่า สำหรับมาตรการเกี่ยวกับโรคความดันโลหิตสูงในประเทศไทย มี 2 มาตรการสำคัญ ดังนี้
1.มาตรการป้องกันโรคความดันโลหิตสูง ลดผู้ป่วยรายใหม่ ทั้งการลดปัจจัยเสี่ยงหลักและการส่งเสริมสุขภาพ เช่น ลดการกินเค็ม เกลือ หรือโซเดียม การลดภาวะอ้วนจองคนไทยภายใต้โครงการ “คนไทยไร้พุง”
2.มาตรการสำหรับการควบคุมและจัดการโรค โดยใช้แผนบริการสุขภาพ ด้วยการคัดกรองโรคความดันโลหิตสูง การจัดการโรค รวมถึงการคัดกรองภาวะแทรกซ้อนและการฟื้นฟูสภาพ มีการพัฒนาคลินิกโรคไม่ติดต่อ (NCD) ที่มีคุณภาพ ใช้มาตรการทางกฎหมายจัดการกับปัจจัยเสี่ยงโรคความดันโลหิตสูง
“ครอบครัวเป็นส่วนสำคัญในการปรับพฤติกรรมสุขภาพ เนื่องจากเป็นกำลังใจ เป็นแบบอย่าง และร่วมใจกันปฏิบัติตน เช่น พากันเพิ่มกิจกรรมทางกาย ออกกำลังกาย การประกอบอาหารสุขภาพในครอบครัว รวมถึงงดดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และไม่สูบบุหรี่ รวมถึงหลีกเลี่ยงการสูดดมควันบุหรี่ ทั้งนี้ ประชาชนควรไปรับการตรวจวัดความดันโลหิตอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ต้องรู้ค่าตัวเลขและความหมายของระดับความดันโลหิตของตนเอง เพราะเป็นตัวเลขสำคัญที่จะทำให้รู้ภาวะสุขภาพและสามารถนำไปดูแลตนเองต่อไปได้ ซึ่งค่าความดันโลหิตปกติจะต้องน้อยกว่า 120/80 มิลลิเมตรปรอท”
หากมีข้อสงสัยประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค 0-2590-3963 หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422
ขอบคุณภาพจาก สำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค
- 1693 views