กระทรวงสาธารณสุข เตรียมแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพระยะ 5 ปี ตั้งแต่ พ.ศ.2560 - 2564 วงเงินกว่า 1.1 หมื่นล้านบาท เพิ่มสาขาการปลูกถ่ายอวัยวะเป็นสาขาที่ 13 เพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วยโรคหัวใจ โรคไตระยะสุดท้ายที่รออวัยวะกว่า 5,000 ราย เป้าหมายลดป่วย ลดตาย ลดแออัด ลดเวลารอคอยในการส่งต่อ ให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการภายในเขตสุขภาพ

วันนี้ (24 กุมภาพันธ์ 2559) ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้เตรียมแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพในระยะต่อไป ตั้งแต่ พ.ศ. 2560 – 2564 วงเงินงบประมาณ 11,679 ล้านบาท ตั้งเป้าหมายลดป่วย ลดตาย ลดแออัด ลดเวลารอคอยในการส่งต่อ โดยเพิ่มคุณภาพระบบบริการ 12 ด้านอย่างต่อเนื่อง และเพิ่มสาขาที่ 13 คือการปลูกถ่ายอวัยวะ เพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วยที่รอรับบริจาคอวัยวะกว่า 5,000 ราย ขณะที่มีผู้บริจาคอวัยวะเพียงปีละ 200 กว่าราย

นพ.โสภณกล่าวต่อว่า ตามแผนดังกล่าว ได้ตั้งเป้าหมายพัฒนาศูนย์ความเป็นเลิศ 5 ด้านให้เกิดขึ้นในทุกเขตสุขภาพ เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการที่มีคุณภาพครบวงจรภายในเขตสุขภาพ ได้แก่ โรคหัวใจ มะเร็ง สมอง ทารกแรกเกิด และปลูกถ่ายอวัยวะ

และกำหนดบริการที่จะส่งมอบประชาชน 45 เรื่อง อาทิ โรคหัวใจ สามารถให้บริการผ่าตัดหัวใจ ขยายหลอดเลือดหัวใจ ให้ยาละลายลิ่มเลือดในผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดที่โรงพยาบาลชุมชนขนาดใหญ่ 

โรคมะเร็ง มีบริการเคมีบำบัดในโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไป และบริการรังสีรักษาในโรงพยาบาลศูนย์ทุกแห่ง

ด้านการปลูกถ่ายอวัยวะ มีศูนย์รับบริจาคอวัยวะในโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไป และมีศูนย์ปลูกถ่ายอวัยวะภาคละ 1 แห่ง

ส่วนบริการด้านจิตเวชและยาเสพติด จัดระบบบริการผู้ป่วยในที่โรงพยาบาลใหญ่ทุกแห่ง มีบริการผู้ป่วยนอกจิตเวชเด็กถึงโรงพยาบาลชุมชน

ด้านจักษุ มีบริการดูแลรักษาผู้ป่วยที่มีปัญหาจอประสาทตา บริการแก้ไขปัญหาสายตาในเด็กนักเรียน  

ด้านโรคไต มีคลินิกโรคไตเรื้อรังถึงโรงพยาบาลชุมชน ฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมในโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป

ที่ผ่านมา ทุกเขตสุขภาพได้เร่งพัฒนาระบบบริการสุขภาพแก่ประชาชนใน 12 สาขา ได้แก่

1.โรคหัวใจ

2.โรคมะเร็ง

3.ทารกแรกเกิด

4.อุบัติเหตุและฉุกเฉิน 

5.สุขภาพช่องปาก

6.จักษุ 

7.สาขาหลัก 5 ด้าน (สูติกรรม ศัลยกรรม อายุรกรรม กุมารเวชกรรม ศัลยกรรมกระดูกและข้อ) 

8.สุขภาพจิต

9.จิตเวชและยาเสพติด

10.โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง 

11.แพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสาน

และ 12.ปฐมภูมิและสุขภาพอำเภอ

ผลการดำเนินงานมีความคืบหน้าเป็นอย่างดี ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการเพิ่มมากขึ้น อาทิ สาขาโรคหัวใจ มีโรงพยาบาลที่ให้บริการผ่าตัดหัวใจได้ 18 แห่งกระจายอยู่ในทุกเขตสุขภาพ ให้ยาละลายลิ่มเลือดผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือดในโรงพยาบาลชุมชน ระยะเวลารอคอยผ่าตัดหัวใจในภาพรวมทั่วประเทศลดลงเฉลี่ยอยู่ที่ 3 เดือน อัตราตายเฉลี่ยผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันลดลงจากร้อยละ 17.03 ในปี 2556 เหลือร้อยละ 11.94 ในปี 2558