กรมควบคุมโรค จับมือภาคีเครือข่าย จัดรถเอกซเรย์เคลื่อนที่ค้นหาผู้ป่วยวัณโรค ตามรูปแบบการควบคุมวัณโรคในเมืองใหญ่ “บางโคล่ โมเดล”
วันนี้ (23 กุมภาพันธ์ 2559) นพ.อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมด้วยผู้บริหารจากกรุงเทพมหานคร และผู้บริหารจากบริษัท บางกอกรับเบอร์ จำกัด (มหาชน) ร่วมเปิดกิจกรรมรณรงค์เพื่อการตรวจรักษาวัณโรคในเขตเมือง หรือ “บางโคล่โมเดล” (Bangkhlo Model) ณ บริษัทบางกอกรับเบอร์ จำกัด (มหาชน) เขตบางคอแหลม กรุงเทพฯ
นพ.อำนวย กล่าวว่า วัณโรคยังคงเป็นปัญหาสำคัญของประเทศไทยซึ่งเป็น 1 ใน 14 ประเทศของโลกที่มีทั้งปัญหาวัณโรคสูง มีปัญหาวัณโรคในผู้ติดเชื้อเอชไอวีและปัญหาวัณโรคดื้อยาหลายขนาน และพบว่าผู้ป่วยวัณโรคเข้าถึงการรักษาเพียงร้อยละ 59
นอกจากนี้ ยังพบว่าอัตราป่วยของประชากรกลุ่มเสี่ยงสูง เช่นผู้สูงอายุมีโอกาสป่วยมากกว่าคนทั่วไป 4-5 เท่า ในสถานประกอบการโรงงานเอกเรย์พบปอดผิดปกติเข้าได้กับวัณโรคร้อยละ 2 ผู้ขับขี่รถสาธารณะ (แท็กซี่) ร้อยละ 4 และยังมีกลุ่มเสี่ยงอื่นๆ เช่น ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้สัมผัสร่วมบ้าน เด็ก แรงงานย้ายถิ่น แรงงานต่างด้าว เป็นต้น
โดยเฉพาะในเมืองใหญ่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ปัจจุบันคาดว่ามีประชากรอาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครประมาณ 10 ล้านคน โดยเป็นประชากรที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน จำนวน 5,604,772 คน และที่เหลือเข้ามาอาศัยอยู่ชั่วคราวเพื่อรับจ้างใช้แรงงาน เพื่อการศึกษา การประกอบอาชีพ และการค้า นอกจากนี้ยังมีนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้ามายังกรุงเทพมหานครตลอดทั้งปี จากความแออัดของชุมชนเมือง การเคลื่อนย้ายเข้าออกของประชากรมีอัตราสูง มีแรงงานทั้งในและนอกระบบอยู่จำนวนมาก แม้ว่าจะมีสถานบริการสาธารณสุขทั้งภาครัฐและเอกชนอยู่มากมาย แต่ก็มีความหลากหลายของระบบการให้บริการสุขภาพไม่เป็นไปในทางเดียวกันขาดความเชื่อมโยงและความต่อเนื่องซึ่งเป็นหลักสำคัญของ การควบคุมป้องกันโรคเรื้อรังเช่นวัณโรค ที่ต้องรักษาต่อเนื่องสม่ำเสมอ 6-8 เดือน กรมควบคุมโรค ได้กำหนดกลยุทธ์มุ่งลดวัณโรค โครงการพัฒนารูปแบบการป้องกันควบคุมวัณโรคในเขตเมืองใหญ่ “บางโคล่โมเดล”เพื่อพัฒนารูปแบบการค้นหาและดูแลรักษาผู้ป่วยวัณโรคในเขตพื้นที่เมืองที่เหมาะสมกับพื้นที่ ตลอดจนพัฒนาระบบข้อมูลและเชื่อมโยงเครือข่ายสถานบริการ เพื่อเป็นต้นแบบให้กับการควบคุมป้องกันวัณโรคในเขตเมืองอื่นๆ ต่อไป
นพ.อำนวย กล่าวต่อว่า การพัฒนารูปแบบดำเนินงานป้องกันควบคุมวัณโรคในเมืองใหญ่ ต้องให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม ทั้งจากภาครัฐ เอกชน และชุมชน โดยมี 6 กิจกรรมหลัก ในการทำงาน คือ
1.วิเคราะห์สถานการณ์ ปัญหาและช่องว่าในพื้นที่
2.จัดให้มีระบบการคัดกรอง ค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกในชุมชน โดยให้เครือข่ายเช่น โรงพยาบาลเอกชน โรงพยาบาลสังกัดกองทัพ มหาวิทยาลัย ร้านขายยาเอกชน มีส่วนร่วมในการดำเนินงาน เน้นกลุ่มเป้าหมายและประชากรหลัก เช่น โรงงาน กลุ่มผู้ขับขี่รถสาธารณะ
3.ให้การรักษาผู้ป่วยวัณโรคอย่างต่อเนื่องโดยให้ชุมชนมีส่วนร่วมกำกับการกินยา(DOT)
4.มีการพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารและการส่งต่อต้องเชื่อมโยงกันตั้งแต่หน่วยบริการถึงชุมชน
5.ให้พื้นที่ ชุมชน และประชาชน มีส่วนร่วมในการป้องกันควบคุมวัณโรคอย่างจริงจังโดยการให้ความรู้และประชาสัมพันธ์แก่ประชาชนในพื้นที่
และ 6.มีการประเมินผลตามเป้าหมายที่วางไว้
ดังนั้น จึงขอเชิญชวนภาคีเครือข่ายอื่นๆทั้งภาครัฐและเอกชน เจ้าของสถานประกอบการ โรงงาน เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ โดยการสื่อสาร ประชาสัมพันธ์ ค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกในกลุ่มประชากรหลักเช่นในสถานประกอบการโรงงาน ผู้ขับขี่รถสาธารณะ ผู้สัมผัสร่วมบ้านในชุมชน ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเบาหวานและติดตามกำกับการรักษาจนหาย
ในโอกาสนี้ ขอแนะนำประชาชนให้สังเกตอาการตนเองว่าเจ็บป่วยด้วยวัณโรคหรือไม่ โดยอาการจะเริ่มจากไอเรื้อรังนานเกิน 2 สัปดาห์ มีไข้ต่ำๆ ในช่วงบ่าย เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลด บางคนยังทำงานได้ปกติ จึงทำให้เชื้อโรคแพร่ไปสู่คนอื่นได้ หากพบผู้ที่มีอาการดังกล่าว ขอให้รีบพาไปพบแพทย์ในโรงพยาบาลหรือสถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรักษาให้เร็วที่สุด เพราะวัณโรคหากพบเร็ว โอกาสรักษาหายสูงและไม่แพร่กระจายเชื้อ ประชาชนที่มีความสนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักวัณโรค โทร 0-2212-2279 กด 4 หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422
- 58 views