อาจารย์เภสัช มข. ชี้ ผลสำรวจเศรษฐานะกองทุนสุขภาพ พบ ขรก.คนรวยมากสุด สูงถึงร้อยละ 78.8 คนจนมีเพียงร้อยละ 9.7 เท่านั้น ขณะที่บัตรทองคนจนมากสุด ร้อยละ 37.5 คนรวยมีเพียงร้อยละ 23 สะท้อนความแตกต่างของผู้มีสิทธิ พร้อมระบุแนวทางร่วมร่วมจ่ายต้องคำนึงเศรษฐานะที่แตกต่าง หากเฉลี่ยเท่ากันคนจนได้รับผลกระทบ และค้านร่วมจ่ายตอนป่วย
รศ.ภก.สุพล ลิมวัฒนานนท์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า จากผลการวิเคราะห์โดยใช้ข้อมูลการสำรวจอนามัยและสวัสดิการครัวเรือนทั่วประเทศของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ที่ได้ทำการสำรวจทุก 2 ปี โดยนำของปี 2556 มาใช้ในการติดตามและวิเคราะห์ระบบหลักประกันสุขภาพในประเทศไทย โดยเฉพาะใน 3 กองทุนสุขภาพหลัก คือ กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กองทุนรักษาพยาบาลประกันสังคม และกองทุนรักษาพยาบาลสวัสดิการข้าราชการ โดยได้ติดตามตั้งแต่ปี 2546 ในช่วงเริ่มต้นนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเพื่อดูการเข้าถึงการรักษาพยาบาลของประชาชน รวมถึงเศรษฐานะของครัวเรือนทั้ง 3 กองทุน ที่วิเคราะห์จากทรัพย์สินที่มีอยู่เพื่อวิเคราะห์ ถึงความแตกต่างของเศรษฐานะที่มีผลการเข้าถึงการรักษาในสถานพยาบาลแต่ละระดับ โดยในประเด็นนี้ได้นำเสนอต่อที่ประชุมหลักประกันสุขภาพระดับชาติที่ผ่านมา
รศ.ภก.สุพล กล่าวว่า จากข้อมูลชุดเดียวกันนี้ยังสะท้อนว่าผู้มีสิทธิทั้ง 3 กองทุนมีเศรษฐานะที่แตกต่างกันจริง จากการสุ่มเปรียบเทียบกลุ่มตัวอย่างประชากร 67 ล้านคนใน 3 กองทุน โดยแบ่งกลุ่มเศรษฐานะออกเป็น 5 ระดับ ซึ่งพบว่าผู้มีสิทธิกองทุนรักษาพยาบาลสวัสดิการข้าราชการส่วนใหญ่หรือร้อยละ 78.8 มีเศรษฐานะที่ดีอยู่ในระดับบน โดยร้อยละ 58.7 เป็นกลุ่มที่อยู่ในระดับรวยที่สุด โดยเป็นกลุ่มที่จนสุดและจนรองลงมามีเพียงแค่ 9.7 เท่านั้น ซึ่งสวนทางกับผู้มีสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่มีกลุ่มระดับจนจำนวนมาก โดยเป็นกลุ่มระดับจนที่สุดและจนรองลงมาถึงร้อยละ 37.5 ส่วนกลุ่มที่มีเศรษฐานะที่ดีระดับบนมีร้อยละ 23 ในจำนวนนี้เป็นกลุ่มระดับที่รวยที่สุดเพียงร้อยละ 14.3
ต่อข้อซักถามว่า งานวิจัยนี้สามารถชี้ว่าข้าราชการเป็นกลุ่มที่มีรายได้มากได้หรือไม่ เพราะที่ผ่านมาการให้สิทธิรักษาพยาบาลสำหรับข้าราชการมักระบุเหตุผลว่า เป็นผู้มีรายได้น้อย รศ.ภก.สุพล กล่าวว่า การระบุดังกล่าวคงเป็นการเปรียบเทียบรายได้กับภาคเอกชน แต่ทั้งนี้ข้าราชการในระบบยังแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มที่เป็นข้าราชการและกลุ่มที่เป็นลูกจ้างประจำ และยังมีอีกหลายกลุ่ม หากจะสรุปในประเด็นนี้คงต้องมีการแยกย่อยในข้อมูลอีก แต่จากข้อมูลวิจัยข้างต้นนี้สามารถสะท้อนครัวเรือนในสังคมที่มีความต่างกัน ดังนั้นการเปรียบเทียบระบบสุขภาพทั้ง 3 กองทุน ต้องคำนึงถึงเศรษฐานะด้วยไม่ใช่ดูแค่ระบบอย่างเดียว
ผู้สื่อข่าวถามว่า งานวิจัยนี้สามารถนำไปเชื่อมโยงกับข้อเสนอการร่วมจ่ายได้หรือไม่ รศ.ภก.สุพล กล่าวว่า การร่วมจ่ายรักษาพยาบาลมี 2 รูปแบบ คือ การร่วมจ่ายตอนรักษาพยาบาลหรือการร่วมจ่ายก่อนเจ็บป่วย ซึ่งกรณีร่วมจ่ายช่วงรักษาพยาบาลในทางทฤษฎีเราไม่เห็นด้วยอยู่แล้ว เพราะเป็นความเสี่ยงของผู้ป่วยไม่ว่าจะจนหรือรวย โดยขณะนี้มีการพูดถึงตัวเลขการร่วมจ่ายที่ร้อยละ 10 หากเป็นการจ่ายขณะที่ป่วย ถ้าค่ารักษา 1,000 บาทก็แค่ 100 บาท แต่หากเป็น 100,000 บาทเท่ากับหนึ่งหมื่นบาท ทั้งนี้หากเป็นการจ่ายก็ล่วงหน้าก็ควรเป็นการจ่ายตามความสามารถของรายได้
มองข้อเสนอของคณะกรรมการจัดทำแนวทางการระดมทรัพยากรเพื่อความยั่งยืนของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ อย่างไร ที่เสนอการร่วมจ่าย ต้องเป็นการ่วมจ่ายจากทุกกองทุนทั้งระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และสวัสดิการข้าราชการ รศ.ภก.สุพล กล่าวว่า ระบบประกันสังคมปัจจุบันแม้มีการร่วมจ่าย แต่ก็มีสิทธิประโยชน์อื่นด้วย ไม่ใช่แต่แค่การรักษาพยาบาลเท่านั้น ซึ่งการร่วมจ่ายทุกกองทุนต้องมาคำนวณสัดส่วนว่าอย่างไรจึงจะเหมาะสม โดยเฉพาะในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าซึ่งมีคนระดับจนสุดอยู่มาก หากใช้วิธีการจัดเก็บที่เท่ากันก็คงลำบาก อีกทั้งมองว่ากลไกการจัดเก็บก็คงไม่ง่าย เพราะมีคนที่ไม่ได้ทำงานภาคราชการและอาชีพอิสระตรงนี้จะจัดเก็บอย่างไร คงมีความยุ่งจากในทางปฏิบัติ กลายเป็นต้นทุนดำเนินการที่คิดไม่ถึงและอาจไม่คุ้มได้ ส่วนสวัสดิการข้าราชการนั้นเคยมีแนวคิดให้ใช้ระบบการออมทรัพย์เพื่อการักษาพยาบาลเช่นเดียวกับประเทศสิงคโปร์ ซึ่งกรณีไม่ป่วยก็ไม่ต้องดึงมาใช้ แต่ระบบนี้ไทยในฐานะประเทศรายได้ปานกลางจะใช้ได้หรือไม่
รศ.ภก.สุพล กล่าวว่า ขณะนี้มีการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อกำหนดแนวทางพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งได้เชิญ ศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นประธาน เพื่อพิจารณาการร่วมจ่าย จึงขอฝากข้อห่วงใยประเด็นร่วมจ่าย ในการพิจารณต้องใช้ข้อมูลที่ถูกต้องและชัดเจน และไม่ควรใช้วิธีเฉลี่ยการจ่ายเท่ากันทั้งหมด เพราะคนไทย 67 ล้านคน เศรษฐานะไม่เท่ากัน ดังนั้นจึงควรใช้ข้อมูลที่มีอยู่แล้วมานำทิศทาง
- 71 views