ข้าราชการ สธ.เตรียมเคลื่อนไหว หลังเกณฑ์ ก.พ.เยียวยาเงินเดือนข้าราชการทำวุ่นอีกครั้ง เหตุยังมีบางกลุ่มไม่เข้าเกณฑ์ตามที่ ก.พ.กำหนด ทำข้าราชการที่เข้ามาทีหลังเงินเดือนแซงรุ่นที่บรรจุก่อน ทั้งไม่ได้รับสิทธิ์ประโยชน์ที่เป็นธรรม ชี้ถูกเลือกปฏิบัติให้เยียวยาเฉพาะบางกลุ่ม เผยกลุ่มที่ตกสำรวจ คือ ข้าราชการ สธ.ในกลุ่มเปลี่ยนสายงาน กลุ่มข้าราชการที่ถูกบรรจุต่ำกว่าคุณวุฒิ กลุ่มข้าราชการที่เคยเป็นลูกจ้างไม่ถึงปี ซึ่งเคยเป็นลูกจ้าง และถูกลดเงินเดือนเมื่อเข้ารับการบรรจุรับราชการ
นายวัชรินทร์ คำมาเร็ว นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ รพ.เชียงม่วน จ.พะเยา เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากหนังสือเวียนของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ที่ นร 1008.1/154 ลงวันที่ 6 มิถุนายน 2556 ให้สิทธิกลุ่มพนักงานราชการและลูกจ้างชั่วคราว ที่บรรจุเข้ารับราชการ ตั้งแต่วันที่ 11 ธันวาคม 2555 ในส่วนราชการสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ได้รับเงินเดือนสูงกว่าขั้นต่ำของตำแหน่ง และสามารถนำอายุงาน ระยะเวลาปฏิบัติงานเป็นพนักงานราชการ และลูกจ้างชั่วคราว มาประเมินเพื่อเลื่อนระดับที่สูงขึ้น
จึงทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในด้าน อัตราเงินเดือนที่สูงกว่า และอายุงานเพื่อเลื่อนระดับ ต่อกลุ่มพนักงานราชการ และลูกจ้างชั่วคราวที่บรรจุเข้ารับราชการก่อนวันที่ 11 ธันวาคม 2555 ยกตัวอย่างเช่น
1.ผู้บรรจุก่อน วันที่ 11 ธันวาคม 2555 ตำแหน่งนักวิชาการสาธารณสุข ระดับชำนาญการ อายุงาน 10 ปี คุณวุฒิปริญญาตรี ณ วันที่ 1 ตุลาคม 2556 ได้รับเงินเดือน 18,400 บาท
2.ผู้บรรจุหลัง วันที่ 11 ธันวาคม 2555 ตำแหน่งนักวิชาการสาธารณสุข ระดับปฏิบัติการ อายุงาน 4 ปี คุณวุฒิปริญญาตรี ณ วันที่ 1 ตุลาคม 2556 ได้รับเงินเดือน 24,450 บาท
ด้วยเหตุนี้ที่ผ่านมา กลุ่มข้าราชการที่บรรจุก่อนวันที่ 11 ธันวาคม 2555 ที่เคยเป็นพนักงานราชการและลูกจ้างชั่วคราว จึงได้ทำหนังสืออุทธรณ์ต่อกระทรวงสาธารณสุข และได้มีหนังสือเวียน ก.พ.ที่ นร 1008.1/138 ลงวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ให้ได้รับการเยียวยา นับอายุงานเพื่อเลื่อนระดับ และหนังสือ ที่ นร 1012.2/250 ลงวันที่ 27 ตุลาคม 2558 โดยการเยียวยาให้ได้รับเงินเดือนดังนี้
1.กรณีพนักงานราชการ ให้ได้รับการปรับเงินเดือนเป็นอัตราใหม่ โดยนำอัตราเงินเดือนตามคุณวุฒิ ตามหนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร 1008.1/ว20 เป็นอัตราเริ่มต้น แล้วบวกกับผลรวมของจำนวนเงินที่ได้เลื่อนขณะเป็นพนักงานราชการ และผลรวมของจำนวนเงินที่ได้เลื่อนเงินเดือนขณะเป็นข้าราชการ
2.กรณีลูกจ้างชั่วคราว ให้ได้รับการปรับเงินเดือนเป็นอัตราใหม่ โดยนำอัตราเงินเดือนตามคุณวุฒิ ตามหนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร 1008.1/ว20 เป็นอัตราเริ่มต้น แล้วบวกกับจำนวนเงินจ้างที่ลดลงในวันที่รับการบรรจุเข้ารับราชการ (ส่วนต่างระหว่างอัตราจ้างสุดท้ายกับอัตราเดือนเดือนตามคุณวุฒิ ณ วันที่ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการ) และผลรวมของจำนวนเงินที่ได้เลื่อนเงินเดือนขณะเป็นข้าราชการ
นายวัชรินทร์ กล่าวต่อว่า จากหลักเกณฑ์ดังกล่าว ทำให้กลุ่มคุณวุฒิต่ำกว่าปริญญาและระดับปริญญา ที่ดำรงตำแหน่งเดิม (ไม่เปลี่ยนสายงาน และทำงานต่อเนื่อง 1 ปีขึ้นไป) ได้รับการเยียวยาตามเกณฑ์ข้างต้น โดยให้ได้รับเงินเดือนใหม่ ได้สูงสุดของตำแหน่งที่ดำรงอยู่ (ขั้นต่ำระดับชำนาญการ คือ 39,690 บาท) เช่น ข้าราชการที่เคยเป็นลูกจ้าง และบรรจุใน ปี 2551 ระดับชำนาญการ เงินเดือนเดิม 19,380 บาท เมื่อได้รับการเยียวยาเงินเดือนใหม่ที่จะได้รับ 30,840 บาท ณ วันที่ 1 ตุลาคม 2558 (ทำงานเป็นลูกจ้าง 2-3 ปี ได้ค่าต่างเงินเดือนอัตราจ้างสุดท้ายสูงถึง 7,000-8,000 บาท ซึ่งถ้าเป็นข้าราชการต้องทำงานไม่น้อยกว่า 8-10 ปี)
และเป็นผลทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำเรื่องอัตราเงินเดือนเป็นครั้งที่ 2 จากหลักเกณฑ์ที่ ก.พ. กำหนดตามหนังสือที่ นร 1008.1/154 และ นร 1012.2/250 ต่อข้าราชกลุ่มอื่นที่เคยเป็นลูกจ้าง เช่น กลุ่มข้าราชการที่เปลี่ยนสายงาน (ย้ายจากแท่งทั่วไปสู่แท่งวิชาการ) ข้าราชการที่ถูกบรรจุต่ำกว่าคุณวุฒิ ข้าราชการที่เคยเป็นลูกจ้างไม่ถึงปี เนื่องจากไม่เข้ากฎเกณฑ์ตามที่ ก.พ.กำหนด และไม่ได้รับสิทธิ์ประโยชน์ที่เป็นธรรม
“เท่ากับว่าได้ถูกเลือกปฏิบัติให้เยียวยาเฉพาะบางกลุ่ม อีกทั้งเกณฑ์เยียวยาจากหนังสือ ที่ นร 1008.1/154 และ นร 1012.2/250 ยังสร้างความเหลื่อมล้ำเงินเดือนข้าราชการ เงินเดือนแซงข้าราชการรุ่นพี่ เช่น กลุ่มข้าราชการที่เคยเป็นพนักงานของรัฐ โดยไม่คำนึงถึงความอาวุธโสของการรับราชการ ซึ่งเกณฑ์เยียวยาเงินเดือนที่ออกมา ควรมีความสมดุล ไม่เหลื่อมล้ำข้าราชการรุ่นพี่ แต่กลับทำให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำเงินเดือนของข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขเพิ่มมากขึ้น” นายวัชรินทร์ กล่าว
ทั้งนี้ตัวแทนกลุ่มข้าราชการกลุ่มเปลี่ยนสายงาน ที่เคยเป็นลูกจ้างและพนักงานราชการ และบรรจุก่อนวันที่ 11 ธันวาคม 2555 ได้ยื่นหนังสืออุทธรณ์ไปยังไปยังกระทรวงสาธารณสุขเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2558 และเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2559 เพื่อรวบรวมหนังสือส่ง สำนักงาน ก.พ. ต่อไป เพื่อพิจารณาถึงหลักเกณฑ์ที่สร้างความเหลื่อมล้ำนี้
นายวัชรินทร์ กล่าวว่า ในเรื่องนี้ ก.พ.ควรเยียวยาให้ครอบคลุมทุกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ จากหนังสือ นร 1008.1/154 ให้เป็นธรรม เช่น กลุ่มข้าราชการกลุ่มเปลี่ยนสายงาน กลุ่มข้าราชการที่ถูกบรรจุต่ำกว่าคุณวุฒิ กลุ่มข้าราชการที่เคยเป็นลูกจ้างไม่ถึงปี ซึ่งเคยเป็นลูกจ้าง และถูกลดเงินเดือนเมื่อเข้ารับการบรรจุรับราชการเช่นกัน
“ดังนั้นขอให้ข้าราชการผู้เปลี่ยนสายงาน หรือข้าราชการกลุ่มอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบ ยื่นหนังสืออุทธรณ์ผ่านทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดที่ตนเองสังกัด และทางกลุ่มจะเตรียมเข้าหารือผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข และผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำระบบเงินเดือนข้าราชการในครั้งนี้ ให้เกิดความยุติธรรม เสมอภาค และเท่าเทียมกันทั้งระบบต่อไป” นายวัชรินทร์ กล่าว
- 709 views