ในที่สุด อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เริ่มทยอยเปิดให้บริการ
อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์เป็นอาคารที่รวบรวมบริการทางการแพทย์ที่ครบวงจรภายในตึกเดียว หรือ "one-stop service" ด้วยการบริการแบบพรีเมียม (premium hospital) หรือบริการด้วยคุณภาพระดับสูง ผ่านวิสัยทัศน์ "จุดเปลี่ยนแห่งมิตรภาพ การบริการสุขภาพของคนไทยทุกชนชั้น สู่มาตรฐานสากล ไม่ว่าจะยากดีมีจน ทุกคนสัมผัสได้ ด้วยหัวใจกาชาด"
ภูมิสิริมังคลานุสรณ์ เป็นชื่อที่มาจากพระนามของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สร้างเพื่อเป็นอนุสรณ์ของทั้งสองพระองค์ที่ราชาภิเษกสมรสครบ 60 ปี ตัวอาคารสูง 29 ชั้น มีพื้นที่ใช้สอย 22,475.25 ตารางเมตร และมีการแบ่งสัดส่วนที่ลงตัว โดยแยกพื้นที่การรักษาพยาบาล การศึกษาของนักศึกษาแพทย์ และที่พักอาศัยของบุคลากร
ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์เป็นอาคารที่ส่งเสริมคุณภาพชีวิตให้แก่คนไทยทุกระดับชนชั้น ด้วยการบริการในรูปแบบพรีเมียม ที่คนไทยทุกระดับชั้นพึงจ่ายได้ ด้วยการบริหารจัดการตามมาตรฐานสากล มีระยะเวลาการสร้างทั้งหมด 5 ปี จะเปิดให้ใช้ได้อย่างเต็มรูปแบบประมาณปลายเดือนธันวาคม 2559 ขณะนี้เปิดให้ใช้เพียง 4 ชั้น คือชั้น 2, 7, 19 และ 28
แบ่งสัดส่วนดังนี้
ชั้น 2 คือศูนย์การวินิจฉัยด้วยภาพ (Imaging center) MRI-เวชศาสตร์นิวเคลียร์
ชั้น 7 หน่วยเอกซเรย์หลอดเลือด รังสีร่วมรักษา กรณีโรคมะเร็งตับสามารถวินิจฉัยพร้อมกับทำการรักษาได้
ส่วนชั้นที่ 19 คือห้องผู้ป่วยสามัญ บริเวณด้านนอกมีโซฟาไว้สำหรับรองรับญาติผู้ป่วย และยังสามารถมองเห็นบรรยากาศภายนอก ราคาห้องตกอยู่ที่ 800 บาทต่อคืน จากราคาเดิม 600 บาท มีเตียงผู้ป่วย 2 เตียง ภายในห้องจะมีอุปกรณ์เครื่องใช้อำนวยความสะดวก และสามารถมองเห็นวิวของสนามแข่งม้าใกล้ รพ.
ส่วนของชั้นที่ 28 เป็นห้องพิเศษเดี่ยว มีชื่อว่า ภูมิสิริสวีท ภายในห้องแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นห้องสำหรับญาติผู้ป่วย มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกครบวงจร ห้องผู้ป่วยสามารถมองเห็นทิวทัศน์ของสวนลุมพินี ส่วน ราคาห้องพิเศษเดี่ยวอยู่ที่คืนละ 12,000 บาท
สำหรับชั้นที่ 14 ของอาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ เป็นชั้นที่ไว้สำหรับทำพิธีกรรมทางศาสนาทั้ง 3 ศาสนา โดยยึดหลักรักษาคนไข้ทุกชนชั้น จึงไม่แบ่งแยกทางศาสนา ได้แก่ ศาสนาพุทธ คริสต์ และอิสลาม
"ชั้นนี้มีไว้ให้ผู้ป่วยยึดเป็นที่พึ่งทางใจ ทั้งยังเป็นห้องไว้สำหรับรองรับผู้ป่วยพระภิกษุสงฆ์ด้วย" ศ.นพ.สุทธิพงศ์กล่าว
ในแต่ละชั้นยังมีความพร้อมในเรื่องของความสะอาดและมีระเบียบความปลอดภัยเป็นเลิศ โดยแบ่งประเภทความเสี่ยงตามมาตรฐาน NHS: National Patient Safety Agency จากประเทศอังกฤษ ซึ่งแบ่งเป็น 4 กลุ่ม
1.พื้นที่ความเสี่ยงสูงมาก เช่น ห้องผ่าตัด ห้องคลอด ฯลฯ
2.พื้นที่ความเสี่ยงสูง เช่น แผนกฉุกเฉิน แผนกปลอดเชื้อ ห้องแล็บ
3.พื้นที่ความเสี่ยงปลานกลาง เช่น ห้องตรวจ แผนกผู้ป่วย ฯลฯ
4.พื้นที่ความเสี่ยงต่ำ เช่น สำนักงาน ห้องพัสดุ ลานจอดรถ ฯลฯ
เรื่องของระบบความปลอดภัย ทาง รพ.จะไม่อนุญาตให้บุคคลแปลกหน้าเข้ามาภายในอาคาร จะมีเจ้าหน้าที่คอยรักษาความปลอดภัย อย่างญาติคนไข้ที่สามารถเข้าออกตัวอาคารจะมีเจ้าหน้าที่เฝ้าดูตลอด ส่วนของอาคารหลังเก่า มีทั้งหมด 9 อาคาร มีอายุกว่า 100 ปี ทาง รพ.ทำการอนุรักษ์ไว้ บางอาคารจะเปิดไว้ใช้กับคนไข้บางกรณี และจัดไว้เป็นสำนักงานต่างๆ
น.ส.นันธิชา นรอิ่ม ประชาชนที่เคยได้รับบริการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ให้ความเห็นว่า ดีใจที่จะได้รับบริการในรูปแบบที่ดีขึ้น มีความทันสมัยมากขึ้น และความปลอดภัยที่สูงขึ้น แต่ในราคาคืนละ 800 ส่วนห้องผู้ป่วยแบบเตียงเดี่ยวในราคา 12,000 บาทนั้น ยังเป็นราคาที่สูงสำหรับคนหาเช้ากินค่ำ
ความเป็นมาตรฐานสากลทำให้รองรับผู้ป่วยได้หลากหลายรูปแบบ และเป็นอีกทางเลือกสำหรับผู้มาใช้บริการ จากโรงพยาบาลของรัฐ
ผู้เขียน : พงษกร สุวรรณ์ topzabapalung@hotmail.com
ที่มา : นสพ.มติชน ฉบับวันที่ 17 ม.ค. 2559
- 1365 views