วันที่ 18 พฤศจิกายน ของทุกปีถูกกำหนดให้เป็นวัน Antibiotic Awareness Day หรือ “วันรู้รักษ์ตระหนักใช้ยาต้านแบคทีเรีย” เนื่องจากมีปัญหาการใช้ยาต้านแบคทีเรียจนเกิดปัญหาเชื้อดื้อยาทั่วโลก ถึงขั้นต้องมีการกำหนดวันขึ้นเพื่อรณรงค์และส่งเสริมให้ประชาชนตระหนักรู้ว่า “เกิดปัญหาการเสียชีวิตจากติดเชื้อในกระแสโลหิตรุนแรงมากขึ้นในสังคมไทย”
87 ปีก่อนหรือปี 2471 เซอร์อเล็กซานเดอร์ เฟลมิ่ง ค้นพบยาเพนนิซิลิน ยาต้านแบคทีเรียชนิดแรกของโลก ซึ่งก่อนหน้านั้นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียจัดเป็นโรคที่สุ่มเสี่ยงต่อการเสียชีวิตของมนุษย์และยังไม่มียารักษาเฉพาะ ยาต้านแบคทีเรียเพนนิซิลิน จึงถือเป็นยาวิเศษในยุคนั้นที่สามารถช่วยชีวิตมนุษย์ได้มากมายในเวลานั้น แต่ยาดังกล่าวก็ใช้ได้ผลดีอยู่เพียง 5 ปี เพราะหลังจากนั้น ตัวเชื้อแบคทีเรียเองก็พัฒนาตัวเองหรือกลายพันธุ์เพื่อรับมือกับเพนนิซิลินเช่นกัน อย่างไรก็ดี ยังเป็นเรื่องโชคดีว่า ณ เวลานั้นวิทยาศาสตร์กำลังก้าวหน้าขึ้นทุกขณะ จึงมีการวิจัยและผลิตยาต้านแบคทีเรียขึ้นเป็นจำนวนมากที่สามารถกำจัดเชื้อแบคทีเรียได้หลายชนิด จนมีความเชื่อว่ามนุษย์เดินมาถึงยุคที่สามารถควบคุมโรคติดเชื้อจากแบคทีเรียได้หมด
วัฏจักรของการ ‘ดื้อยา’ จากการใช้ยาต้านแบคทีเรียอย่างพร่ำเพรื่อและเกินความจำเป็น บวกกับตัวเชื้อแบคทีเรียเองก็พัฒนาตัวเองเช่นที่เคยเกิดขึ้น ถึงจะมีพยายามคิดค้นยาตัวใหม่ๆ ออกมา แต่สุดท้ายก็วนกลับมาดังเดิม ขณะที่การคิดค้นยาต้านแบคทีเรียชนิดใหม่ๆ กลับประสบความสำเร็จน้อยมาก
ความสูญเสียที่เกิดขึ้น
ผลการวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอังกฤษ พบว่า ปัจจุบันทั่วโลกมีการเสียชีวิตจากเชื้อแบคทีเรียดื้อยาประมาณ 7 แสนราย ซึ่งหากปล่อยให้สภาพปัญหานี้ดำรงอยู่ต่อไป ในปี 2593 คาดว่าจำนวนการเสียชีวิตจะสูงขึ้นถึง 10 ล้านคนและสร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจกว่า 3 พันล้านล้านบาท
สำหรับประเทศไทย มีการประมาณการว่าในแต่ละปีคนไทยติดเชื้อแบคทีเรียดื้อยาประมาณ 88,000 คน และเสียชีวิตจากเชื้อเหล่านี้ประมาณ 38,000 คน คิดเป็นความเสียหายทั้งทางตรงและทางอ้อมรวมกันถึง 46,000 ล้านบาท นี่ยังไม่รวมค่ายาที่ต้องนำมาใช้แต่ไม่ได้ผลปีละมากกว่าหมื่นล้านบาท (ประเทศไทยมีการใช้ยาต้านจุลชีพสูงเป็นอันดับหนึ่งของกลุ่มยาที่ใช้ทั้งหมด สูงกว่ายารักษามะเร็งที่ถือว่าแพง)
ดูเหมือนสถานการณ์เชื้อแบคทีเรียดื้อยากำลังทวีความหนักหน่วงขึ้นทุกขณะ ถึงกับมีนักวิทยาศาสตร์กล่าวไว้ว่า “ในสงครามกับแบคทีเรีย มนุษย์กำลังเป็นฝ่ายพ่ายแพ้”
นายแพทย์เคอิจิ ฟุคุดะ ผู้ช่วยผู้อำนวยการทั่วไปด้านความมั่นคงสุขภาพ องค์การอนามัยโลก ก็พูดไว้ในทิศทางเดียวกันว่า "โลกเรากำลังมุ่งไปสู่ทิศทางยุคหลังยาต้านแบคทีเรีย (Post-antibiotic era) ซึ่งเป็นช่วงแห่งวันเวลาที่การรักษาโรคติดเชื้อด้วยยาต้านแบคทีเรียไม่ได้ผล"
นอกจากข้อมูลที่กล่าวไปข้างต้น ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) ยังรายงานว่า สถิติการเสียชีวิตจากเชื้อแบคทีเรียดื้อยา 3 อันดับแรกเกิดจาก การติดเชื้อในกระแสเลือดจากการใส่สายสวนหลอดเลือด การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะจากการใส่สายสวนปัสสาวะ และอันดับสุดท้ายคือการติดเชื้อจากปอดอักเสบจากการใช้เครื่องช่วยหายใจ
ผศ.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการ กพย. กล่าวว่า ปัญหาเชื้อแบคทีเรียเป็นปัญหาใหญ่มากในปัจจุบัน อัตราการดื้อยาเพิ่มขึ้นมาก
“ตัวเร่งให้เกิดกลายพันธุ์คือการได้รับยาต้านแบคทีเรียเกินจำเป็น เช่น เมื่อเป็นหวัดจากการติดเชื้อไวรัส แต่กลับกินยาต้านแบคทีเรียซึ่งไม่มีผลต่อเชื้อไวรัส เท่ากับเป็นการใช้ยาไม่ตรงสาเหตุ เกินความจำเป็นมากขึ้น ก็ยิ่งเร่งการกลายพันธุ์เพิ่มขึ้น ในด้านบุคลากรสาธารณสุขก็พบว่ามีใช้ยาไม่สมเหตุผลเช่นกัน แต่ปัญหาการดื้อยามิได้แสดงให้เห็นผลเสียในทันที จึงทำให้คนมองไม่เห็นภาพปัญหาการดื้อยาในขณะนี้ว่ามีความรุนแรงแค่ไหน”
ประเด็นที่น่าวิตกสำหรับสังคมไทย ผศ.ภญ.นิยดา กล่าวว่า คือการแพร่ระบาดของยาต้านแบคทีเรียอย่างไร้การควบคุม เพราะสามารถหาซื้อได้ในร้านชำทั่วไป หรือตลาดนัด ซ้ำยังมีการนำไปใช้ในการเกษตร เช่น ในหมู ไก่ กุ้ง ปลา หรือแม้แต่พืชอย่างส้มและมะนาว และเมื่อเกิดการตกค้างในสิ่งแวดล้อมก็จะยิ่งเพิ่มโอกาสให้เกิดการกลายพันธุ์ของแบคทีเรีย ซึ่งในไทยยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้แต่อย่างใด
เซอร์อเล็กซานเดอร์ เฟลมิ่ง กล่าวไว้เมื่อครั้งได้รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ เมื่อปี 2488 ว่า เชื้อแบคทีเรียจะดื้อยา ถ้ามนุษย์ใช้ยาต้านไม่เป็นหรือไม่เหมาะสม
คำกล่าวเมื่อ 70 ปีก่อน วันนี้เป็นจริงแล้ว
ข้อมูลเพิ่มเติม
แผนงานศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา กพย. โทร 02-218 8452
- 152 views