นสพ.มติชน : 'นักวิชาการ-เอ็นจีโอ' ประสานเสียงค้านยกเลิกข้อ 60-64 ในร่าง พ.ร.บ.จัดซื้อฯ ยันส่อทำชาติเสียหาย เหตุบริษัทยาข้ามชาติจ้องล้ม 'องค์การเภสัชกรรม' ทำราคายาแพง
เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม ผศ.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการศูนย์วิชาเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) กล่าวในเวทีเสวนา เรื่อง "ใครได้ ใครเสีย หากยกเลิกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 ข้อ 60-64" ที่จัดโดยสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การเภสัชกรรมว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริการพัสดุภาครัฐ พ.ศ.... เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2558 และขณะนี้อยู่ในการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยยกเลิกข้อ 60-64 ซึ่งเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ของหน่วยงานภาครัฐที่ระบุให้จัดซื้อจากองค์การเภสัชกรรม (อภ.) นั้น
"การดำเนินการดังกล่าวจะส่งผลให้การจัดซื้อยามีวิธีการไม่แตกต่างจากการจัดซื้อกระดาษเอ 4 โดย อภ.ต้องแข่งขันการขายยากับบริษัทอื่นๆ อยู่ตลอดเวลา การทำหน้าที่ประทังสถานการณ์ยาของประเทศก็จะหายไป ระบบการควบคุมราคายาหายไป เพราะที่ผ่านมา อภ.ช่วยตรึงราคาไม่ให้ราคาแพงเกินไป" ผศ.ภญ.นิยดากล่าว
ด้าน น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้ติดตามตรวจสอบนโยบายสาธารณะกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชนและแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา กล่าวว่า หากร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มีผลบังคับใช้ โดยที่ไม่นำข้อกำหนดในระเบียบฯพัสดุ พ.ศ.2535 มากำหนดไว้ด้วย จะเป็นการเปิดช่องให้บริษัทยาข้ามชาติเข้ามาทำลาย อภ.และธุรกิจยาขนาดเล็ก เพราะไม่สามารถแข่งขันกับทุนข้ามชาติได้
"ประเทศไทยไม่ได้ประโยชน์ มีแต่เสียประโยชน์ แต่ธุรกิจข้ามชาติจะได้ประโยชน์จากการออกกฎหมายดังกล่าว เพราะเป็นสิ่งที่ธุรกิจข้ามชาติต้องการ เนื่องจากมองว่า อภ.ผูกขาดธุรกิจนี้ ขณะที่บริษัทข้ามชาติต้องการเข้ามาทำกำไรในธุรกิจนี้ ในอนาคตเมื่อไม่มี อภ.ตรึงราคา ราคายาต้องแพงขึ้นแน่นอน" น.ส.กรรณิการ์กล่าว
ขณะที่นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า มีความพยายามล้มระเบียบฯพัสดุ พ.ศ.2535 มาโดยตลอด เพราะธุรกิจยักษ์ข้ามชาติเข้ามาผูกขาดและแทรกแซงการค้ายาในไทย ทั้งๆ ที่การกำหนดให้โรงพยาบาลของรัฐจัดซื้อยาจาก อภ.ก่อน ไม่ใช่สิทธิพิเศษ แต่เป็นความมั่นคงด้านยาของประเทศ ทำให้คนไทยทุกคนมีหลักประกันว่ามีองค์กรของรัฐดูแล หากเกิดปัญหาขึ้น ประเทศไทยก็มีการผลิตยาใช้เองได้
"ขอยืนยันว่าไม่ได้คัดค้านไม่ให้มี พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ ที่เป็นกลไกกำกับตรวจสอบการทุจริต แต่จะต้องนำข้อกำหนดของระเบียบฯพัสดุเดิมมาใส่ไว้ใน พ.ร.บ.ใหม่ด้วย ซึ่งจากนี้จะมีการยกร่าง พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ ฉบับภาคประชาชนที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ของรัฐประกอบด้วย" นายนิมิตร์กล่าว
ที่มา : นสพ.มติชน ฉบับวันที่ 8 ส.ค. 2558 (กรอบบ่าย)
- 3 views