สปสช.เขต 4 สระบุรี หนุนเครือข่ายภาคประชาชนที่ทำหน้าที่หน่วยรับเรื่องร้องเรียนอื่นที่เป็นอิสระฯ ชาวจังหวัดปทุมธานีเข้าถึงสิทธิพื้นฐานที่จำเป็นตามกฎหมาย เน้นลดปัญหาด้านค่ารักษาพยาบาลเมื่อเจ็บป่วยชาวชุมชนเข้าถึงการรักษา ส่งเสริมความรู้สิทธิและหน้าที่ที่เป็นสิทธิพื้นฐานที่พึงได้รับตามกฎหมาย โดยเฉพาะสิทธิ 30 บาท อีกทั้งเป็นหน่วยคลายทุกข์ เป็นที่พึ่งให้ประชาชน
นายพันธ์รวี ยอดมา ผู้ประสานงานศูนย์ประเด็นเครือข่ายชุมชนแออัด และหน่วยรับเรื่องร้องเรียนอื่นที่เป็นอิสระ ม.50(5) กล่าวว่า ด้วยสภาพปัญหาพื้นที่ชุมชนแออัดเทศบาลนครรังสิตและชุมชนแออัดพื้นที่ริมคลอง ซึ่งปัจจุบันมีประชากรที่ย้ายเข้ามาอยู่ในพื้นที่เพื่อประกอบอาชีพ เช่น เกษตรกร ลูกจ้างบริษัท รับจ้างอื่นๆ จำนวนมาก ด้วยบริบทของ อ.ธัญญบุรี จึงมีประชากรแฝงใช้พื้นที่ว่างเปล่าเพื่อปลูกสร้างที่พักอาศัยกึ่งถาวรลักษณะอยู่กันเป็นกลุ่ม ก่อให้เกิดปัญหาสภาพสังคมในพื้นที่ชุมชน ทั้งอาชญากรรม ยาเสพติด ตลอดจนปัญหาการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ขั้นพื้นฐานต่างๆ
ศูนย์ฯ จึงได้จัดให้มีเวทีเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้คนในพื้นที่ได้เข้าใจสิทธิพื้นฐานที่พึงได้รับตามที่รัฐบาลจัดให้ โดยเฉพาะสิทธิการรักษาพยาบาลในระบบหลักประกันสุขภาพ เพื่อให้ชาวชุมชนได้เข้าใจบทบาทหน้าที่ของตนเอง กรณีย้ายที่พักอาศัยจะต้องลงทะเบียนสิทธิเพื่อขอเปลี่ยนหน่วยบริการ หากเจ็บป่วยสิทธิ 30 บาทดูแลไม่ต้องเสียเงินค่ารักษาพยาบาล ทั้งนี้ยังได้สำรวจเก็บข้อมูลของประชากรแฝง เพื่อประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการให้ถูกต้อง ตลอดจนชาวชุมชนสามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมด้วย
นางอรกัลยา พุ่มพึ่ง ศูนย์ประเด็นเครือข่ายผู้หญิง จ.ปทุมธานี และหน่วยรับเรื่องร้องเรียนอื่นที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียน ม.50(5) กล่าวว่า ตนและทีมงานทำงานในชุมชนใกล้ชิดประชาชน ทำหน้าที่ทั้งให้ความรู้เรื่องสิทธิหลักประกันสุขภาพ ส่งเสริมการศึกษาของเด็ก รณรงค์ไม่ให้เยาวชนท้องก่อนวัยควร รณรงค์การป้องกันการเป็นโรคติดต่อ ทั้งยังทำหน้าที่เป็นหน่วยรับเรื่องร้องเรียนฯเกี่ยวกับสิทธิหลักประกันสุขภาพ ซึ่งที่ผ่านมามีประชาชน เข้ามาติดต่อขอรับความช่วยเหลือบ้าง ร้องเรียนร้องทุกข์มากกว่า 30 เรื่อง อาทิ ด้านมาตรฐานบริการสาธารณสุข การไม่ได้รับความสะดวกตามสิทธิ การถูกเรียกเก็บเงินโดยไม่มีสิทธิเรียก การไม่ได้รับบริการตามสิทธิ ซึ่งหน่วยรับเรื่องร้องเรียนฯ ก็จะช่วยกันแก้ไขปัญหาด้วยการให้คำแนะนำ เช่น การขอเปลี่ยนหน่วยบริการประจำได้ปีละ 4 ครั้ง การเจรจราไกล่เกลี่ยเพื่อสร้างความเข้าใจระหว่างผู้ให้บริการและผู้รับบริการ ตลอดจนประสานกรณีผู้รับบริการได้รับความเสียหายจากการรักษาพยาบาล เป็นต้น
ทั้งนี้ตนมองว่าการทำหน้าที่เป็นหน่วยรับเรื่องร้องเรียนฯ ที่ สปสช.เขต 4 สระบุรีผลักดันให้เกิดในทุกพื้นที่ ก็เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการที่จำเป็น อีกทั้งยังเป็นการลดช่องว่างของการที่ประชาชนไม่ได้รับความเป็นธรรม ถูกทอดทิ้งแล้วไม่สามารถเข้าถึงช่องทางการแก้ไขปัญหา หรือเข้าถึงช่องทางสู่กระบวนการยุติธรรม สำหรับประชาชนที่อยู่จังหวัดปทุมธานี สามารถเข้ามาปรึกษา ร้องเรียน ร้องทุกข์ได้ที่หน่วยฯ ซึ่งหน่วยจะทำงานเชื่อมโยงกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ผู้เดือดร้อนได้มีที่พึ่งพิง ไม่โดดเดี่ยว ภายใต้การกำกับดูแลของคณะอนุกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข เขต 4 สระบุรี
ติดต่อศูนย์ฯได้ที่ นางอรกัลยา พุ่มพึ่ง ศูนย์ประเด็นเครือข่ายผู้หญิงเพื่อสุขภาพภาคกลาง 106/11 หมู่ 6 ถ.รังสิต-ปทุมธานี ต.บางพูน อ.เมือง จ.ปทุมธานี 12000 และ นายพันธ์รวี ยอดมา 239/97B หมู่ 3 ถ.รังสิต-นครนายก ต.ลำผักดูด อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี 12110 หรือสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิหลักประกันสุขภาพได้ที่ ส่วนด่วน สปสช.โทร 1330 ตลอด 24 ชั่วโมง
- 49 views