ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกระบุว่า ทั่วโลกมีผู้ที่มีความดันโลหิตสูงเกือบถึงพันล้านคน ซึ่งสองในสามของจำนวนนี้อยู่ในประเทศกำลังพัฒนา โดยพบว่าคนในวัยผู้ใหญ่ในเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศไทยเรา มี  1 คน ใน 3 คน ที่มีภาวะความดันโลหิตสูง โรคความดันโลหิตสูงเป็น 1 ในสาเหตุสำคัญของการตายก่อนวัยอันควรทั่วโลก

นพ.ไพศาล บุญศิริคำชัย

นพ.ไพศาล บุญศิริคำชัย ผู้อำนวยการสถาบันเพอร์เฟคฮาร์ท โรงพยาบาลปิยะเวท กล่าวว่า ภาวะความดันโลหิตสูง  คือ  การมีความดันโลหิตขณะพักมากกว่าหรือเท่ากับ  140/90 มิลลิเมตรปรอท(mmHg) โดยกรณีที่ความดันโลหิตอยู่ระหว่าง 120/80 และ 140/90 มิลลิเมตรปรอท(mmHg) แสดงว่าความดันโลหิตอยู่ในเกณฑ์ที่เริ่มสูง ซึ่งควรให้ความสำคัญเพราะโรคความดันโลหิตสูงเป็นสาเหตุสำคัญของโรคอื่นๆ ตามมามากมาย เช่น โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หัวใจวาย เส้นเลือดในสมองตีบหรือแตก ไตวาย หลอดเลือดแดงใหญ่ฉีกหรือโป่ง เส้นเลือดส่วนปลายตีบ เป็นต้น

ปัญหาใหญ่ที่ควรตระหนัก คือ คนที่เป็นไม่ทราบว่าตัวเองเป็น หรือรู้ว่าเป็นแต่ไม่สนใจที่จะรักษา ถึงแม้ว่าผลการรักษาจะได้ผลดี ทำให้ยังมีผู้ป่วยที่เป็นโรคแทรกซ้อนจากความดันโลหิตสูงจำนวนมาก ผู้ป่วยส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดจะไม่มีอาการ ทำให้ไม่ทราบว่าตนเองกำลังเป็นโรคนี้ จะทราบก็ต่อเมื่อไปตรวจรักษาด้วยปัญหาอื่นๆ อาการของโรคความดันโลหิตสูงมักเป็นอาการที่ไม่จำเพาะเจาะจง เช่น ปวดศีรษะ มึนงง หน้ามืด ตาลาย ซึ่งอาจเกิดจากสาเหตุอื่นๆได้มากมาย อาทิ การพักผ่อนไม่เพียงพอ เครียด ขาดการออกกำลังกาย สูงอายุ  และมากกว่า 90% ของผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงไม่มีสาเหตุแน่ชัด อีกไม่ถึง 10% มีสาเหตุจากโรคอื่นๆ เช่น เนื้องอกของต่อมหมวกไต เส้นเลือดที่ไปเลี้ยงไตตีบ คอพอกเป็นพิษ ฯลฯ

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้พบความดันโลหิตสูงมากกว่าคนทั่วไป คือ  อายุที่มากขึ้น เพศชาย น้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐาน ขาดการออกกำลังกาย การกินเกลือปริมาณมากกว่าที่ร่างกายต้องการ และการใช้ยาบางชนิด เช่น ยาคุมกำเนิด โดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยจำเป็นต้องรักษาไปตลอดเหมือนกับโรคเรื้อรังอื่นๆ ควรเน้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น การออกกำลังกายสม่ำเสมอ การลดน้ำหนัก การลดอาหารที่มีเกลือเป็นส่วนประกอบ ซึ่งอาหารเป็นสิ่งที่ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงความที่จะใส่ใจเป็นพิเศษ เพื่อการควบคุมระดับความดันให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ไม่สูงมากจนเกินไปนั้น ได้แก่

1.ควรจำกัดปริมาณเกลือที่รับประทาน โซเดียมคลอไรด์ ควรน้อยกว่า 6 กรัมต่อวัน โดยการหลีกเลี่ยงอาหารที่เค็มจัดหรือมีปริมาณโซเดียมสูง เช่น อาหารแปรรูปต่างๆ ไส้กรอก กุนเชียง แฮม หมูแผ่น หมูหยอง ผักดองต่างๆ เต้าหู้ยี้ ปลาเค็ม ไข่เค็ม เป็นต้น การปรุงแต่งรสชาติอาหารควรใช้สารปรุงแต่งรส เช่น น้ำปลา ซอส ซีอิ้ว ในปริมาณที่พอเหมาะ หลีกเลี่ยงการใช้ผงชูรส เนื่องจากสารปรุงแต่งรสเหล่านี้มีส่วนประกอบของโซเดียมซึ่งทำให้ความดันโลหิตสูง อาจทำให้มีการสะสมน้ำในร่างกาย ทำให้เกิดภาวะบวมน้ำ หัวใจและไต ทำงานหนักมากขึ้น

2.จำกัดปริมาณแอลกอฮอล์ ไม่เกิน 2 Drink ของแอลกอฮอล์ในผู้ชาย และไม่เกิน 1 Drink ในผู้หญิง (15 มิลลิลิตร  =  1  drink )

 

3.หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง เช่น ปาท่องโก๋ ไก่ทอด มันฝรั่งทอด หรืออาหารที่ใช้น้ำมันปริมาณมากโดยเฉพาะอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวหรือคอเลสเตอรอลสูง เช่น เนื้อสัตว์ติดมัน ไขมันจากสัตว์ น้ำมันมะพร้าว น้ำมันปาล์ม กะทิ เป็นต้น

4.หลีกเลี่ยงการใช้น้ำมันจากสัตว์ในการปรุงอาหาร และควรเลือกใช้น้ำมันพืชในการปรุงอาหารแทน เช่น น้ำมันมะกอก  น้ำมันรำข้าว น้ำมันเมล็ดดอกทานตะวัน น้ำมันถั่วเหลือง เป็นต้น

5.ควรรับประทานผักและผลไม้เป็นประจำ

6.ดื่มนมพร่องมันเนย หรือผลิตภัณฑ์จากนมพร่องมันเนย เช่น โยเกิร์ตไขมันต่ำ หรือรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง  เช่น เต้าหู้ ผักใบเขียว เป็นต้น พบว่า แคลเซียมจากนมจะช่วยในการควบคุมความดันโลหิตได้

7.ออกกำลังกายสม่ำเสมอ โดยเฉพาะแบบแอโรบิค เช่น วิ่ง วิ่งจ๊อกกิ้ง ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ เป็นต้น

8.ควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้สูงเกินมาตรฐาน โดยการควบคุมปริมาณอาหาร และการออกกำลังกาย

9.หยุดสูบบุหรี่ เพราะการสูบบุหรี่จะเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดโรคแทรกซ้อนจากความดันโลหิตสูงมากขึ้น

“นอกจากอาหารการกินแล้ว การดูแลตนเองให้ห่างไกลความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยควรรับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ผ่อนคลายจากความเครียด และที่สำคัญควรตรวจร่างกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อการรักษาอย่างทันท่วงที” นพ.ไพศาล กล่าวสรุป