ปลัดสธ.เตรียมลงพื้นที่ติดตามผลความก้าวหน้า13 เขตสุขภาพ เริ่ม เม.ย.58 หลังเดินหน้าเขตสุขภาพเป็นปีที่ 3 เพื่อปฏิรูปกลไก เพิ่มการเข้าถึงบริการประชาชนอย่างเท่าเทียม ทั่วถึง เพื่อปรับแก้จุดอ่อน และขยายจุดแข็งดำเนินการใน 2 ปีที่เหลือ โดยจะดูที่ผลลัพธ์จริงที่เกิดกับประชาชน เปรียบเทียบกับประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรของแต่ละเขตสุขภาพ
นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า หลังจากที่กระทรวงสาธารณสุขได้ปฏิรูประบบบริการสุขภาพ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ประชาชนทุกพื้นที่เข้าถึงบริการอย่างเท่าเทียมและมีคุณภาพเหมือนกันทุกแห่ง โดยใช้ยุทธศาสตร์บริหารจัดการร่วมและการจัดบริการร่วมในรูปแบบของเขตสุขภาพ เริ่มตั้งแต่ พ.ศ.2555-2559 แบ่งออกเป็น 12 เขตภูมิภาค และ 1 เขตกทม. แต่ละเขตจะมี 5-7 จังหวัด ดูแลประชากรสัดส่วนใกล้เคียงกันประมาณ 5 ล้านคน โดยมีคณะกรรมการเขตสุขภาพ เป็นผู้บริหารจัดการแทนส่วนกลาง ทั้งงบประมาณ ทรัพยากร ทั้งกำลังคน เตียงผู้ป่วย กลไกการบริหารจัดการ เชื่อมโยงบริการตั้งแต่ระดับขั้นพื้นฐานจนถึงระดับเชี่ยวชาญชั้นสูง และเชื่อมโยงสถานบริการที่อยู่ในเขตและในจังหวัด เสมือนเป็นสถานบริการเดียวกัน ซึ่งแตกต่างจากอดีตที่ใช้ระบบริหารจัดการแบบอิสระ ต่างคนต่างทำ ส่งผลต่อประสิทธิภาพการบริหารจัดการไม่คุ้มค่าเท่าที่ควร
นพ.ณรงค์ กล่าวต่อว่า ในปีนี้ก้าวเข้าสู่ปีที่ 3 ของการพัฒนาเขตสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ได้วางแผนติดตามประเมินผลหลังการพัฒนาเขตสุขภาพทุกเขต เพื่อแก้ไขจุดอ่อนและพัฒนาจุดแข็งในแต่ละเรื่อง เพื่อดำเนินการต่อในยุทธศาสตร์ที่เหลือ อีก 2 ปี โดยได้ประชุมผู้บริหารระดับสูงและผู้ตรวจราชการทุกเขต ได้วางแผนกำหนดประเด็นที่ติดตามผลการพัฒนาในระดับพื้นที่ ใน 5 เรื่องใหญ่ ได้แก่ 1.โครงสร้างกลไกการดำเนินงานการจัดบริการ การบริหารร่วมภายในเขตสุขภาพ 2.การจัดแผนพัฒนาระบบบริการในระดับจังหวัดและในระดับเขต ซึ่งจะรวมถึงแผนการลงทุนด้านการก่อสร้างและแผนกำลังคนด้วย
3.คุณภาพการจัดบริการรักษาพยาบาลประชาชนใน 10 สาขาหลัก ได้แก่ 1.โรคมะเร็ง 2.อุบัติเหตุ 3.โรคหัวใจและหลอดเลือด 4.จิตเวช 5.โรคตาและไต 6.ทารกแรกเกิด 7.บริการ 5 สาขาพื้นฐานได้แก่ สูติกรรม อายุรกรรม กุมารเวชกรรม ศัลยกรรม กระดูก 8.ทันตกรรม 9.บริการปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และสุขภาพองค์รวม และ10.โรคไม่ติดต่อ 3 โรคสำคัญได้แก่ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และโรคถุงลมปอดอุดกั้นเรื้อรัง 4.การบริหารจัดการร่วมเชื่อมโยง ทั้งกำลังคน งบประมาณ และการจัดการ และ 5.ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับประชาชนจริง เช่น การเข้าถึงบริการ คิวรอการรักษาพยาบาล จำนวนการเจ็บป่วย อัตราเสียชีวิตของประชาชน โดยจะเปรียบเทียบกับช่วงก่อน พ.ศ.2556
นพ.ณรงค์ กล่าวว่า ในการลงพื้นที่ติดตามผลจะเริ่มตั้งแต่เดือนเมษายน 2558 เป็นต้นไป ในการลงพื้นที่ดังกล่าว กระทรวงสาธารณสุขจะนำข้อมูลที่มีอยู่ในส่วนกลาง วิเคราะห์ความเชื่อมโยงระหว่างภาพรวมของเขต กับรายจังหวัด นอกจากนี้จะดูความแตกต่างบริบทของแต่ละพื้นที่ด้วย เช่น เขตเมือง เขตปริมณฑล เขตทุรกันดาร ชายแดน และจะประเมินประสิทธิภาพการบริหารจัดการแต่ละเขต โดยดูจากผลที่เกิดกับสุขภาพประชาชน เปรียบเทียบกับทรัพยากรที่เขตมี
- 3 views