“หลังจากที่รู้ตัวว่าป่วยเป็นโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ระยะที่ 1 เมื่อปี พ.ศ. 2544 เลยตัดสินใจลาออกจากงานราชการทันที เพื่อออกมาดูแลร่างกายของตนเอง ในช่วงเวลานั้นเข้าใจเวลาคนทำคีโมเลย มีความรู้สึกเหมือนคนเป็นโรคเอดส์เลย”
นางจันทร์เพ็ญ คงแดง วัย 62 ปี เลขานุการชมรมผู้สูงอายุ “โครงการส่งเสริมสุขภาพกายและสุขภาพจิตของผู้สูงอายุในชุมชน” ชุมชนพิกุลทอง เทศบาลตำบลแม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ได้เล่าที่มาของการทำงานส่งเสริมสุขภาพของผู้สูงอายุของเทศบาลตำบลแม่สะเรียง
จันทร์เพ็ญ คงแดง
ป้าจันทร์เพ็ญ เล่าว่า ในช่วงนั้น สุขภาพของตนเองทรุดโทรมลงอย่างมาก ไม่มีเรี่ยวแรง ทำให้ตนต้องหันมาใส่ใจสุขภาพอย่างจริงจังหลังจากที่ที่ลาออกจากงานประจำ ในตอนนั้นจะดูแลทั้งเรื่องของอาหาร และการออกกำลังกาย ผลที่ได้คือ ตนมีสุขภาพร่างกายร่างกาย แข็งแรงขึ้น
“เมื่อมีเวลามากขึ้นตนเริ่มมองเห็นเพื่อนบ้านในตำบลแม่สะเรียงแล้วว่า ส่วนมากจะเป็นผู้สูงอายุเสียส่วนมาก ลูกหลานไปทำงานในเมืองหรือกรุงเทพกันหมด และส่วนใหญ่ผู้สูงอายุส่วนมากจะมีโรคประจำตัวเรื้อรังกัน ทั้งเบาหวาน ความดันโรคหิตสูง หรือแม้แต่โรคหัวใจ ตนจึงเริ่มหันมาใส่ใจคนในชุมชนด้วยการชักชวนผู้สูงอายุทั้งหลายมาออกกำลังกายในตั้งแต่ปี 2544-2545 และเริ่มทำอย่างจริงจังเมื่อปี 2551 หลังจากเริ่มมีกองทุนหลักประกันสุขภาพเข้ามา”
สำหรับในพื้นที่เทศบาลตำบลแม่สะเรียง จากผลสำรวจถึงเดือนตุลาคม ปี 2557 มีผู้สูงอายุรวมทั้งสิ้น 409 คน แบ่งเป็นชาย 149 คน หญิง 260 คน คนพิการ 51 คน วัฒนธรรมอาหารการกินส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลมาจากไทยใหญ่ ที่อาหารส่วนมากจะประกอบไปด้วยแป้ง น้ำตาล กะทิ ซึ่งอาหารเหล่านี้เป็นอีกปัจจัยหนึ่งของการเกิดโรคเรื้อรังที่ไม่ติดต่อ เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หัวใจ
ทั้งนี้การจะให้ผู้สูงอายุมาออกกำลังกายทุกวันอาจจะเป็นเรื่องที่ยาก และอาจไม่เหมาะสมกับวัยและร่างกายของผู้สูงอายุ ป้าจันทร์เพ็ญ มองว่า วันและสถานที่ที่จะมีผู้สูงรวมตัวกันมากคือ วันพระที่วัดในชุมชน จึงได้ใช้ช่วงเวลาดังกล่าวจัดกิจกรรมออกกำลังกาย แบบไม้พลองและโยคะกดจุด ซึ่งจะเริ่มภายหลังจากที่ผู้สูงอายุได้ทำกิจกรรมทางศาสนาเสร็จสิ้นแล้ว โดยได้รับความร่วมมือจาก รพ.สต.แม่สะเรียง ที่มีหน้าที่อบรมให้ความรู้การออกกำลังกายที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุ และคอยเช็คสุขภาพผู้สูงอายุเป็นประจำและต่อเนื่อง
“นอกจากในวันพระแล้วยังได้กำหนดให้ทุกวันศุกร์เป็นวันออกกำลังกายของผู้สูงอายุเวลาที่ใช้ในการออกกำลังกายในแต่ละครั้งไม่เกิน 40 นาที เราจะมีวิดีโอสาธิตการออกำลังกายให้ผู้สูงอายุได้ดูและทำตาม และทุกครั้งจะมีการให้ความรู้แก่ผู้สูงอายุว่า การออกำลังกายเป็นสิ่งที่ดี ทำให้ร่างกายแข็งแรง สามารถลดไขมันตัวไม่ดีที่ก่อให้เกิดโรคได้ ซึ่งผู้สูงอายุจะไม่รู้หรอกว่า ไขมันดีคืออะไร ไขมันไม่ดีคืออะไร แต่เขาจะรู้ว่า ภายหลังที่เขาออกกำลังกายต่อเนื่อง เมื่อถึงเวลาที่ต้องพบหมอว่า หมอจะชมว่า คุณตา/ยายน้ำตาลในเลือดดีขึ้นนะ ไปทำอะไรมา หรือหมอจะชมว่าร่างกายแข็งแรงขึ้นน่า โรคที่เป็นอยู่ควบคุมได้ ไม่ต้องรับยาเพิ่มแล้ว นั่นแหละเขาถึงจะรู้ข้อดีของการออกกำลังกาย” เลขาชมรมผู้สูงอายุฯ กล่าว
ทั้งนี้นอกจากจะดูแลร่างกายแล้ว ผู้สูงอายุส่วนมากจะมีปัญหาทางด้านจิตใจ บางคนอยู่คนเดียว ลูกหลานไม่อยู่บ้าน คนเหล่านี้อาจเป็นโรคซึมเศร้าได้ ทางชมรมฯจึงกิจกรรมพาเที่ยวตลาดนัดทุกวันศุกร์ เป็นตลาดนัดเทศบาล ผลที่ได้ เมื่อผู้สูงอายุได้มีโอกาสพบปะ พูดคุยกับผู้อื่น จะทำให้มีสุขภาพจิตที่ดีขึ้น อีกทั้งสุขภาพกายก็ดีขึ้นตามไปด้วย
ป้าจันทร์เพ็ญ บอกว่า ทุกวันนี้มีสมาชิกประมาณ 40 คน แต่ที่มาออกกำลังกายอย่างต่อเนื่องเหนียวแน่นจะมีเพียง 15 คนเท่านั้น เนื่องจากว่าผู้สูงอายุบางคนเดินทางไม่ค่อยสะดวก เดินลำบาก การร่วมกิจกรรมจึงไม่ต่อเนื่องเหมือนคนที่เดินได้สะดวก แต่ทุกวันพระเล็ก พระใหญ่จะสามารถรวมตัวผู้สูงอายุได้มากที่สุด
ท้ายสุดป้าจันทร์เพ็ญ บอกว่า การที่เราจะมีสุขภาพกาย/ใจที่ดีได้นั้น ตนจะต้องเป็นที่พึ่งแห่งตนนั้นเป็นสิ่งที่ดีที่สุด ถ้าเราผู้สูงอายุไม่ดูแลกันเองแล้วใครจะมาดูแลเรา และอยากให้คนในสังคมเห็นคุณค่าและความสำคัญของการออกกำลังกาย ซึ่งจะช่วยให้เราผู้สูงอายุมีทั้งสุขภาพกาย/ใจที่ดีขึ้นโดยไม่ต้องพึ่งผู้อื่น
- 36 views