สมัชชาสุขภาพ ครั้งที่ 7 ผลักดัน 5 นโยบายสาธารณะ เดินหน้าสมานฉันท์ ร่วมกันปฏิรูป สังคมสุขภาวะ คลอดนโยบายสาธารณะ สเตอรอยด์ แผนยุทธศาสตร์สุขภาพโลก กลไกคุ้มครองเด็ก การประเมินเทคโนโลยีสุขภาพ การกำจัดปัญหาพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี
26 ธ.ค.57 อิมแพ็ค เมืองทองธานี นนทบุรี ในพิธีปิดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 7 ประจำปี 2557 คณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2557 ได้รายงานผลการประชุมของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 7 ภายใต้แนวคิดหลัก “เดินหน้าสมานฉันท์ ร่วมกันปฏิรูป สังคมสุขภาวะ”
นายเจษฎา มิ่งสมร ประธานกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2557 กล่าวว่า มติที่ได้รับการรับรองในปีนี้ จะมีการนำเสนอต่อคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี และต้องให้คณะทำงานชุดติดตามมติฯ พิจารณาต่อว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไร ส่วนในปี 2558 คาดว่าจะมีวาระที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นเรื่องของอนาคตและใกล้ชิดกับชีวิตผู้คน เช่น เรื่องสุขภาวะเมืองใหญ่ ซึ่งน่าจะเกิดโมเดลการจัดการเมืองใหญ่เกิดขึ้นหลายแห่ง, วิถีชีวิตชาวนา เรื่องนี้คงจะมีการทำงานวิชาการเพิ่มเติม โดยรวมผู้คนจากหลากหลายภาคส่วนมากขึ้นเพื่อร่วมคิดต่อว่าจะกำหนดเป็นวาระสำคัญในการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งหน้าได้อย่างไร
ส่วนเรื่องใหม่ที่แทรกเข้ามาคือ ทีมหมออนามัย ร่วมกับชมรมนายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ได้หารือคณะกรรมการจัดงานว่า ปีหน้าจะเสนอเรื่องของพวกเขาบ้าง เนื่องจากประเทศไทยมีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เกือบหมื่นแห่ง อปท.อีกเกือบแปดพันแห่ง หากทั้งสองส่วนจับมือกันเสนอเรื่อง ‘ทศวรรษหน้ากับมาตรฐานการบริการปฐมภูมิ’ ก็จะมีความน่าสนใจอย่างยิ่งที่จะติดตาม
นายเจษฎากล่าวด้วยว่า นอกจากนี้อาจมีการเสนอวาระ ‘สุขภาวะสื่อมวลชน’ ด้วย นับเป็นโจทย์ที่ท้าทายของพี่น้องสื่อมวลชนว่า จะใช้เครื่องมือนี้ ใช้สมบัติสาธารณะนี้ในการสร้างสุขภาวะในสังคมได้อย่างไร
“ปีหน้าสื่อจะไม่ต้องสัมภาษณ์เราแล้ว เพราะสื่อจะเข้าสู่กระบวนการนี้ด้วยตัวเอง” เจษฎากล่าวพร้อมทั้งระบุเพิ่มเติมว่า สมาชิกสมัชชาอื่นๆ ก็สามารถเสนอวาระการพิจารณาได้ จากนั้นจะผ่านการทำงานวิชาการ ทำวิจัยรองรับ เพื่อที่เมื่อถูกเสนอเป็นมติแล้ว รัฐจะสามารถตัดสินใจดำเนินนโยบายได้อย่างชัดเจน ส่วนประเด็นที่ขับเคลื่อนแล้วแต่ไม่สำเร็จเท่าที่ควรก็กลับมานำเสนอได้ใหม่
ดร.ไชยยศ บุญญากิจ ประธานอนุกรรมการดำเนินการประชุมคณะที่ 1 กล่าวว่า ในสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 7 นี้ คณะที่ 1 มีการพิจารณาระเบียบวาระ 4 เรื่องด้วยกัน คือ การจัดการสเตอรอยด์ที่คุกคามสุขภาพคนไทย, การจัดทำแผนยุทธศาสตร์สุขภาพโลกของไทย, ทบทวนมติสมัชชาฯ ว่าด้วยการป้องกันผลกระทบต่อสุขภาวะและสังคมจากการค้าเสรีระหว่างประเทศ, รายงานการติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานตามมติสมัชชาฯ
ดร.ไชยยศ กล่าวว่า ในการประชุมมีการให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์อย่างมากและอย่างมีสมานฉันท์ เรื่องการจัดการสเตอรอยด์ที่คุกคามสุขภาพคนไทย โดยพบว่า ประเทศไทยยังมีการใช้กันอยู่มากในหลายรูปแบบ และแม้ว่าจะมีประโยชน์ทางการแพทย์อยู่ไม่น้อย แต่ก็มีผลกระทบรุนแรงเช่นเดียวกัน เช่น อาจทำให้เกิดแผลในกระเพาะ ลำไส้ กระดูกพรุน ฯลฯ จึงเห็นว่าต้องจัดการแก้ไขป้องกันอย่างเป็นระบบ ที่ประชุมจึงเสนอแนะ 2 ทางเลือกใหญ่ คือการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดและบูรณาการ ตั้งแต่การนำเข้า การผลิต การใช้ กับอีกส่วนคือการให้ความรู้กับประชาชนผู้ใช้สเตอรอยด์
ดร.ไชยยศ กล่าวอีกว่า สำหรับวาระการจัดทำแผนยุทธศาสตร์สุขภาพโลกของประเทศไทย มีที่มาที่ไปจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการเดินทางติดต่อเชื่อมโยงกันอย่างรวดเร็วในโลก จึงเกิดโรคอุบัติใหม่ข้ามพรมแดนมากมาย ทั้งที่เกิดตามสภาวะธรรมชาติหรือมนุษย์มีส่วนสร้างขึ้น การบริหารจัดการเรื่องนี้จึงต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกประเทศ ที่ประชุมจึงได้พูดถึงองค์กรที่จะจัดตั้งขึ้นอย่างเป็นระบบ โดยมีกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ รวมถึงภาคีต่างๆ เพื่อร่วมกันทำแผนปฏิบัติและติดตามผลการดำเนินงาน
สำหรับวาระเกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศหรือเอฟทีเอนั้น สมาชิกสมัชชาสุขภาพแห่งชาติไม่สามารถหาข้อสรุปในประเด็นนี้ได้ ตามระเบียบปฏิบัติจึงต้องกลับไปใช้มติสมัชชาสุขภาพครั้งที่ 3 มติที่ 9 เรื่อง การป้องกันผลกระทบต่อสุขภาวะและสังคมจากการค้าเสรีระหว่างประเทศ
“เราทราบว่าการค้าเสรีดีในหลายเรื่อง แต่ก็มีผลกระทบต่อสุขภาพ เช่น การค้าเสรียาสูบ แอลกอฮอล์ ทรัพย์สินทางปัญญา น่าเสียดายที่ที่ประชุมไม่สามารถหาฉัทนมติกันได้ในเรื่องนี้” ดร.ไชยยศกล่าว และกล่าวเพิ่มเติมถึงวาระการติดตามการดำเนินงานตามมติสมัชชาฯ นั้นมีอยู่ 10 เรื่องด้วยกัน ซึ่งสมาชิกให้ความสนใจเป็นอย่างมาก หลายท่านเสนอแนะว่า ควรนำเสนอผลสำเร็จและปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นด้วย
ดร.วณี ปิ่นประทีป ประธานอนุกรรมการดำเนินการประชุม คณะที่ 2 กล่าวว่า ในคณะที่ 2 มีการพิจารณาระเบียบวาระทั้งหมด 3 เรื่อง คือ การพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อบูรณาการกลไกคุ้มครองเด็ก เยาวชน และครอบครัวจากปัจจัยเสี่ยง, การพัฒนากระบวนการประเมินและตัดสินใจการใช้เทคโนโลยีด้านสุขภาพ, การกำจัดปัญหาพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีในประชาชน
ดร.วณีกล่าวว่า วาระการคุ้มครองเด็ก เยาวชนและครอบครัวจากปัจจัยเสี่ยงนั้นสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล เพราะปัจจัยเสี่ยงที่คุกคามเด็ก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความรุนแรงในครอบครัว สื่อลามก สารเสพติด ฯลฯ นั้น มีมากขึ้นเรื่อยๆ การกำหนดระเบียบวาระในปีนี้ เราใช้คำว่า ‘การพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อบูรณาการกลไก’ เนื่องจากหน่วยงานภาครัฐที่ทำงานเรื่องเด็ก เยาวชนและครอบครัวนั้นมีหลายหน่วยงาน มีกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 14 ฉบับ และมีคณะกรรมการ 14 ชุด ดังนั้นที่ประชุมจึงมีมติเสนอว่า ต้องมีกลไกที่บูรณาการเลขานุการของคณะกรรมการชุดต่างๆ ภายในกฎหมาย 14 ฉบับนั้น จะต้องออกเป็น มติ ครม.จัดตั้งคณะทำงานบูรณาการขึ้นเพื่อจะได้ร่วมกันกำหนดแผนปฏิบัติการและกลไกต่างๆ ให้สอดคล้องกัน
สำหรับวาระการพัฒนากระบวนการประเมินการใช้เทคโนโลยีด้านสุขภาพ ดร.วณี รายงานว่า หากใช้ภาษาทั่วไปก็คือการประเมินการใช้ยา การใช้เครื่องมือแพทย์ การผ่าตัดต่างๆ รวมถึงการตรวจโรค การรักษาโรคทั้งแผนปัจจุบัน แผนไทย แผนทางเลือก โดยประเมินคุณค่าและผลเสียของเครื่องมือแต่ละชนิด ที่ผ่านมาเราไม่ได้คำนึงถึงเรื่องนี้มากนัก และมักมีลักษณะตรวจเกินความจำเป็นและเหมาะสม เช่น เจ็บป่วยเล็กน้อยแต่หมอสั่งเจาะเลือดและตรวจทุกอย่าง ทำอย่างไรจะมีกระบวนการประเมินเพื่อทำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ที่ประชุมจึงมีมติเสนอให้กระทรวงสาธารณสุขตั้ง ‘คณะกรรมการพัฒนาระบบการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพแห่งชาติ’ โดยให้มีองค์ประกอบจากผู้แทนภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น สมาคมผู้วิจัยและเภสัชภัณฑ์ สมาคมไทยอุตสาหกรรมผลิตผาแผนปัจจุบัน สมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเครื่องมือแพทย์ไทย ฯลฯ รวมทั้งตัวแทนองค์กรผู้ป่วย องค์กรคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อกำหนดทิศทาง มาตรฐานในทิศทางเดียวกันให้ได้รับการยอมรับระดับประเทศ เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจแก่บุคลากร ประชาชนทั่วไป เพื่อให้รู้เท่าทันการใช้เทคโนโลยีด้านสุขภาพ โดยต้องคำนึงถึงผลได้ผลเสียตั้งแต่ระดับปัจเจกถึงสังคม และมิติด้านสุขภาพและเศรษฐกิจด้วย
ดร.วณี ได้รายงานการพิจารณาในวาระการกำจัดพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีว่า ผู้ร่วมประชุมส่วนใหญ่มาจากภาคอีสาน และสนใจเสนอข้อคิดเห็นอย่างมาก เพราะประเด็นนี้มีความสำคัญและถูกนำเสนอขึ้นมาโดยคนในพื้นที่ ขณะนี้พบว่า มีประชากรประมาณ 6 ล้านที่มีพยาธิใบไม้ตับ และมีแนวโน้มเป็นมะเร็งท่อน้ำดี และมะเร็งตับ สาเหตุสำคัญมาจากการกินอาหาร โดยเฉพาะปลาดิบ ที่ประชุมเห็นตรงกันว่า การแก้ปัญหาต้องเริ่มตั้งแต่การให้ความรู้ ปรับทัศนคติ ตั้งแต่ออกแบบการเรียนการสอนของเด็กเล็ก เพื่อปรับทัศนคติในการรับประทานอาหาร นอกจากนี้ต้องพัฒนาศักยภาพแพทย์ พยาบาล ในการคัดกรอง ตรวจรักษาโรคนี้ และกรมประชาสัมพันธ์ กระทรวงวัฒนธรรมต้องช่วยออกแบบการสื่อสารเพื่อปรับทัศนคติเรื่องการรับประทานอาหารให้ได้
- 17 views