กระทรวงสาธารณสุข เร่งพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ เตรียมจัดอบรมหน่วยกู้ชีพเบื้องต้น เพื่อประเมินและช่วยเหลือผู้ป่วย ณ จุดเกิดเหตุก่อนถึงโรงพยาบาล พร้อมเตรียมแพทย์ในโรงพยาบาลชุมชนทุกแห่งให้ดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินจากสถานการณ์ และเชื่อมต่อระบบส่งต่อทั้งทางบก อากาศ เพื่อให้ผู้ป่วยฉุกเฉินได้รับการบริการที่มีคุณภาพ ปลอดภัย ไม่เสียชีวิต
ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และคณะ ตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี ให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน มอบเงินเยียวยาบุคลากร และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุความไม่สงบจำนวน 66 คน ของจังหวัดปัตตานี หลังจากนั้นเดินทางไปสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปัตตานี ติดตามการดำเนินงานการจัดบริการในพื้นที่พิเศษ การส่งต่อผู้ป่วย การเยียวยาบุคลากร ร่วมทั้งความร่วมมือกับกระทรวงกลาโหมและเครือข่ายบริการอื่นๆ
ศ.นพ.รัชตะกล่าวว่า ได้ให้กำลังใจผู้ปฏิบัติงานที่ปฏิบัติงานด้วยความเสียสละทุ่มเท แม้มีความเสี่ยงสูงจากสถานการณ์ความรุนแรงจนบาดเจ็บ ทุพพลภาพ และเสียชีวิต โดยมีบุคลากรบาดเจ็บ 29 ราย เสียชีวิต 33 ราย ถูกวางระเบิด วางเพลิงสถานีอนามัยและบ้านพักรวม 27 ครั้ง แต่เจ้าหน้าที่ทุกคนก็ยืนหยัดที่จะดูแลสุขภาพประชาชนอย่างเต็มที่ ทั้งในสถานพยาบาลและชุมชน ตลอดจนการส่งรักษาต่อ แม้จะขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์โดยเฉพาะศัลยแพทย์ แต่ก็รับความร่วมมือจากโรงพยาบาลใกล้เคียงช่วยแก้ปัญหา โดยหมุนเวียนศัลยแพทย์ไปช่วยเหลือ รวมทั้งการสนับสนุนจากกองทัพบกส่งศัลยแพทย์ประจำในรพ.ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส แห่งละ 1 คน
โดยแผนพัฒนาระบบบริการ (Service Plan) ของเขตสุขภาพที่ 12 เรื่องสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ได้มีการจัดทำระบบฐานข้อมูลเฝ้าระวังการบาดเจ็บจากความรุนแรง การจัดระบบความปลอดภัย ทั้งด้านอาคารสถานที่ บุคลากร โดยการติดตั้งกล้องวงจรปิด ไซเรน รั้ว ระบบสื่อสารทางเลือก อบรมทักษะการบริหารความเสี่ยงแก่เจ้าหน้าที่จบใหม่ การเข้าช่วยเหลือ ณ จุดเกิดเหตุ รวมทั้งการสร้างขวัญกำลังใจ เยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ ส่วนระบบการแพทย์ฉุกเฉินมีแผนพัฒนาดังนี้ 1.ระบบการบริการผู้ป่วย ณ จุดเกิดเหตุก่อนถึงโรงพยาบาลที่มีศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการและหน่วยกู้ชีพเบื้องต้น (First Responder) ได้รับความร่วมมือกับภาคเอกชนและกองทัพ โดยจะอบรมพัฒนาศักยภาพหน่วยกู้ชีพให้มีครบทุกพื้นที่ สามารถประเมินและช่วยเหลือผู้ป่วยที่จุดเกิดเหตุได้ปลอดภัย
2.ระบบรองรับในโรงพยาบาล โดยแพทย์ทุกคนในโรงพยาบาลชุมชน จะได้รับการอบรมหลักสูตรการดูแลผู้บาดเจ็บฉุกเฉิน (Southern Trauma and Emergency Care Project) ที่จัดทำหลักสูตรร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีระบบให้คำปรึกษาผ่านทางแอพพลิเคชั่นไลน์ จัดทำข้อมูลการบาดเจ็บ รวมทั้งพัฒนามาตรฐานห้องฉุกเฉิน อบรมศัลยแพทย์ในการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉิน รวมทั้งการฝึกปฏิบัติจำลองเหตุการณ์จริง นอกจากนี้ ได้จัดระบบส่งต่อ ทำงานเป็นเครือข่ายทั้งจากหน่วยงานในพื้นที่และภาคเอกชน รวมทั้งกลาโหม ตำรวจ ในการส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉินทั้งทางบกและทางอากาศ โดยมีโรงพยาบาลปลายทางรับส่งต่อคือสุไหงโกลก ยะลา นราธิวาส หาดใหญ่ รพ.สงขลานครินทร์ และรพ.พระมงกุฎฯ ซึ่งแผนการพัฒนาทั้งหมดมีเป้าหมายที่จะให้ผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์ได้รับการบริการที่มีคุณภาพ ปลอดภัย ลดการเสียชีวิตโดยไม่จำเป็น
- 55 views