เครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ฯ บุกยื่นหนังสือ สปสช.- กรรมการสิทธิฯ เสนอระงับนโยบายรักษาฉุกเฉินชั่วคราว หลังดำเนินนโยบาย 2 ปีปัญหาเพียบ ผู้ป่วยและญาติถูก รพ.เอกชนเรียกเก็บค่ารักษา แถมถูกฟ้อง พร้อมขอเยียวยาผู้ป่วยที่จ่ายเงินไปแล้ว ด้าน “หมอวินัย” รับเรื่องนำเสนอต่อรัฐ เหตุเป็นนโยบายรัฐ สปสช.ไม่มีอำนาจ พร้อมรับนโยบายมีปัญหา อยู่ระหว่างร่วมมือ 3 กองทุน ชง คสช.ออกกฎหมายห้าม รพ.เรียกเก็บค่ารักษา
26 ส.ค.57 นางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ และตัวแทนเครือข่ายผู้เสียหายฯ อาทิ นางพัชรินทร์ โสภจารีย์ นายประเสริฐ อชินีทองคำ และนายจิราทีป ธนาภาชน์ ได้เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน กรณีถูกโรงพยาบาลเอกชนเรียกเก็บเงินหลังเข้ารับการรักษาเจ็บป่วยฉุกเฉินทั้งที่เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล และยังถูกฟ้องเรียกเก็บค่ารักษาจนก่อให้เกิดความเดือดร้อน
นางปรียนันท์ กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลได้มีนโยบายบูรณาการสิทธิ 3 กองทุนรักษาพยาบาล ทั้งระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ระบบประกันสังคม และระบบสวัสดิการข้าราชการ กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน ซึ่งเริ่มตั้งแต่เดือนเมษายน 2555 โดยผู้มีสิทธิสามารถเข้ารับการรักษายังหน่วยบริการที่ใกล้ที่สุดได้ทันที รวมถึงโรงพยาบาลเอกชนที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วหน้าหรือประกันสังคม เพื่อช่วยให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาในภาวะวิกฤตฉุกเฉิน โดยโรงพยาบาลจะได้รับค่าใช้จ่ายในการให้บริการตามระบบกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วม หรือ DRG (Diagnosis Related Group) แต่ที่ผ่านมาทางเครือข่ายกลับได้รับการร้องเรียนอย่างต่อเนื่อง เพราะมีผู้ป่วยที่เข้ารับบริการฉุกเฉินถูกโรงพยาบาลเรียกเก็บเงินจำนวนมาก แม้ว่าจะเป็นไปตามหลักเกณฑ์กรณีฉุกเฉินตามนโยบายของรัฐก็ตาม หลายรายไม่มีเงินจ่ายค่ารักษา และซ้ำหลายรายยังถูกโรงพยาบาลฟ้องร้องเพื่อเรียกเก็บค่าส่วนต่างหลังจากที่ได้รับการชดเชยตาม DRG แล้ว ส่งผลให้ผู้ป่วยและญาติได้รับความเดือนร้อนอย่างหนัก
ทั้งนี้เครือข่ายผู้ป่วยที่ได้รับความเดือนร้อนจากนโยบายฉุกเฉินที่มาวันนี้เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่ง ยังมีผู้ป่วยและญาติที่เดือนร้อนจากนโยบายรักษาฉุกเฉินจำนวนมาก และเชื่อว่าหากปล่อยให้ระบบยังคงเป็นเช่นนี้ จะมีจำนวนผู้ป่วยและญาติที่เดือนร้อนเพิ่มขึ้นแน่นอน ซึ่งปัญหานี้ทางเครือข่ายผู้เสียหายฯ ได้นำเสนอมาตั้งแต่เริ่มต้นระบบแล้ว และมาวันนี้เพื่อเรียกร้องให้ สปสช.แก้ไขปัญหาในฐานะหน่วยงานที่รับนโยบายปฏิบัติ โดยมีข้อเสนอดังนี้
1.สปสช.ต้องยกเลิกนโยบายฉุกเฉินเป็นการชั่วคราว หาก สปสช.ยังคงดำเนินนโยบายทั้งที่ขาดความพร้อมและไม่มีประสิทธิภาพในการจัดการ จะทำให้มีผู้ที่เดือนร้อนเพิ่มขึ้น เป็นการสร้างความทุกข์ให้กับประชาชน
2.ขอให้ สปสช.เร่งออกมาตราการช่วยเหลือ ผู้ป่วยและญาติที่จ่ายเงินค่ารักษาไปแล้ว และที่ถูกฟ้องร้องจากโรงพยาบาล โดยให้ สปสช.ช่วยเยียวยาโดยเร็ว
3.หาก สปสช.จะดำเนินโนยบายรักษาฉุกเฉินต่อไป ต้องมีมาตราการรองรับที่ชัดเจน โดยเฉพาะความร่วมมือจากโรงพยาบาลเอกชน ที่ต้องไม่เป็นการผลักภาระให้กับผู้ป่วย ทั้งควรมีการสรุปปัญหาการเข้ารับบริการฉุกเฉินที่ผ่านมาเป็นแนวทางในการวางระบบต่อไป
นางปรียนันท์ กล่าวว่า นอกจากนี้ขอเรียกร้องไปยังรัฐบาลที่กำลังจัดตั้งขึ้น ขอให้มีการตั้งคณะกรรมการเพื่อควบคุมค่ารักษาโรงพยาบาลเอกชน เพราะที่ผ่านมาไม่มีมาตรฐานและเรียกเก็บค่ารักษาเกินจริง
ด้าน นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสปสช. กล่าวว่า นโยบายรักษาฉุกเฉินเป็นไปเพื่อช่วยเหลือชีวิตคน ไม่ใช่เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน โดย สปสช.รับหน้าที่เป็นผู้สำรองจ่ายให้กับผู้มีสิทธิทั้ง 3 กองทุน แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นและไม่เป็นไปตามนโยบายที่ตั้งไว้ เพราะกฎกติกาบ้านเรายังไม่พร้อม ซึ่งมีเพียงกฎหมายที่ห้ามให้โรงพยาบาลปฏิเสธการรักษาผู้ป่วยเท่านั้น แต่ไม่มีกฎหมายบังคับห้ามไม่ให้โรงพยาบาลเรียกเก็บเงินจากผู้ป่วย ด้วยเหตุนี้ที่ผ่านมาจึงได้มีการประชุมร่วมกัน 3 กองทุนรักษาพยาบาล ในการเตรียมจัดทำข้อเสนอต่อทางคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อให้มีการกฎหมายบังคับไม่ให้เรียกเก็บเงินจากผู้ป่วยฉุกเฉิน แต่ให้เรียกเก็บจากองทุนรักษาพยาบาลแทน โดยมีการจัดทำหลักเกณฑ์การจ่ายค่ารักษาผู้ป่วยฉุกเฉินที่ต้องเป็นที่ยอมรับของโรงพยาบาลเอกชน แต่ขณะเดียวกันต้องไม่ใช่อัตราที่ทำกำไรมากเกินไป
“การดำเนินนโยบายรักษาฉุกเฉินที่ผ่านมามีปัญหามาก ไม่แต่เฉพาะผู้ป่วยที่ถูกฟ้องร้องเรียกเก็บค่ารักษา แต่ สปสช.เองก็ถูกฟ้องทั้งจากผู้ป่วยและโรงพยาบาลเอกชน ดังนั้นจึงต้องถามไปยังรัฐบาลว่าจะเดินหน้านโยบายนี้หรือไม่ ถ้าเดินหน้าต้องมีการปรับปรุงเพื่อนำไปสู่นโยบายที่ปฏิบัติได้จริง และไม่เป็นปัญหา”นพ.วินัย กล่าวว่า ส่วนข้อเรียกร้องที่ให้ระงับใช้นโยบายฉุกเฉินเป็นการชั่วคราวนั้น เนื่องจากเป็นนโยบายของรัฐบาล สปสช.ไม่มีอำนาจตัดสินใจ ซึ่งคงต้องรับเรื่องเพื่อนำเสนอต่อรัฐบาลต่อไป
นพ.วินัย กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีการเยียวยาผู้ป่วยที่จ่ายค่ารักษาให้กับโรงพยาบาลเอกชไปแล้ว สปสช.คงต้องดูว่าจะสามารถดำเนินการอย่างไร ซึ่งคงต้องเป็นไปตามกรอบอำนาจที่ซึ่งมีอยู่ ส่วนกรณีที่ถูกฟ้องร้องนั้นจะให้ฝ่ายกฎหมายช่วยดูช่วยเหลืออย่างไร
นพ.แท้จริง ศิริพานิช กรรมการสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า ประเด็นสิทธิมนุษยชนที่สำคัญที่สุดคือสิทธิการมีชีวิต และการเจ็บป่วยโดยเฉพาะการเข้าถึงช่วงภาวะวิกฤต นับเป็นเรื่องสำคัญที่จำเป็นต้องได้รับการดูแล ซึ่งหลังจากนี้ทางกรรมการสิทธิมนุษยชนจะประสานหน่วยงานที่ข้องเพื่อดำเนินตามกระบวนการ ทั้งนี้ความเห็นของกรรมการสิทธิฯ จะช่วยทำให้ข้อเสนอเพื่อเดินหน้าระบบรักษาฉุกเฉินให้มีน้ำหนักขึ้น
- 6 views