บริษัทที่ปรึกษาและวิจัย ข้อมูลธุรกิจระดับโลก "ทาวเวอร์ส วัทสัน" (Towers Watson) ระบุว่าค่าใช้จ่าย ด้านสวัสดิการเพื่อการดูแลสุขภาพ สำหรับพนักงานทั่วโลกยังคงที่ แต่มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต โดยพบว่าในปี 2013 นายจ้างในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จำนวน 8.8% มีแนวโน้มให้ความสำคัญ ต่อการรักษาพยาบาลทางการแพทย์ และคาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เป็น 9.3% ในปี 2014 ทั้งนี้โปรแกรมการส่งเสริมด้านสุขภาพกำลังเป็นที่แพร่หลายอย่างมากในทุกภูมิภาค อันเนื่องมาจากนายจ้างต่างมองหากลยุทธ์เสริม ในการจัดการด้านงบประมาณเพื่อไม่ให้เพิ่มสูงจนเกินไป
การสำรวจแนวโน้มด้านการรักษาพยาบาลทั่วโลก ประจำปี 2014 โดย ทาวเวอร์ส วัทสัน (The 2014 Towers Watson Global Medical Trends Survey) ได้รวบรวมข้อมูลจากบริษัทประกันสุขภาพชั้นนำจำนวน 173 บริษัท ใน 58 ประเทศ พบว่า ค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการเพื่อสุขภาพของพนักงานทั่วโลกในปีนี้มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น 8.3%โดยเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสองปี ที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ที่ 7.9% และ 7.7% ตามลำดับ ทั้งนี้ อัตราการเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยของ ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกนั้นสูงกว่าอัตราการเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยของทั่วโลก
แฟรนซิส โคลแมน ผู้อำนวยการ ฝ่ายที่ปรึกษาระหว่างประเทศของ ทาวเวอร์ส วัทสัน กล่าวว่า ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการจัดสรรสวัสดิการเพื่อสุขภาพสำหรับพนักงานยังคงที่ในช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมา นายจ้างทั่วโลกก็ยังคงให้ความสำคัญกับ การควบคุมค่าใช้จ่ายขององค์กรไม่ให้สูงขึ้นมากนัก แต่ในความเป็นจริงทุกภูมิภาคมีอัตราค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการเพื่อสุขภาพสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องถึง 2 เท่าของ อัตราเงินเฟ้อ ซึ่งสร้างความกังวลให้กับนายจ้าง อันเนื่องมาจากบริษัทประกันส่วนใหญ่มีแผนในการปรับราคาเพิ่มขึ้นอีกในปีต่อๆ ไป
ด้าน คริส เม ผู้อำนวยการฝ่ายข้อมูลด้านสวัสดิการ ทาวเวอร์ส วัทสัน ประเทศไทย กล่าวว่า ในประเทศไทย รายงานผลสำรวจจากบริษัทประกันสุขภาพที่เข้าร่วมระบุว่า อัตราการเพิ่มเฉลี่ยของสวัสดิการด้านสุขภาพสำหรับพนักงาน ในปี 2012 และ 2013 อยู่ที่ 6.3% ต่อปีเท่านั้น ซึ่งถือเป็นค่าเฉลี่ยที่ต่ำที่สุดในภูมิภาค เอเชียแปซิฟิก อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ว่า ในปี 2014 จะมีอัตราการเพิ่มเฉลี่ยเป็น 8.7% หรือ 6.5% หากคำนวณตามอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งนับเป็นอันดับสองในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จากรายงานการสำรวจพบว่า บริษัทประกันภัยที่เข้าร่วมจำนวนมากกว่าครึ่งหนึ่งจากทุกภูมิภาค (55%) คาดว่า แนวโน้มของสวัสดิการด้านสุขภาพจะเพิ่มขึ้น หรืออาจเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในอีกสามปีข้างหน้านี้ ซึ่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จะมีการเพิ่มขึ้นมากเป็นพิเศษ โดย บริษัทประกันที่เข้าร่วมการสำรวจมากกว่า 2 ใน 3 (69%) คาดว่าค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลหรือการดูแลทางการแพทย์มีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นจากอัตราปัจจุบันอย่างมีนัยยะสำคัญในอีกสามปีข้างหน้า
รายงานการสำรวจของปีนี้ ยังพบสององค์ประกอบสำคัญที่มีผลต่อค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ ได้แก่พฤติกรรมของพนักงานหรือพฤติกรรมของผู้ให้บริการด้านสุขภาพโดยเทียบกับปัจจัยภายนอก เช่น เทคโนโลยีใหม่ๆ ทางการแพทย์ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง และแรงจูงใจทางด้านผลตอบแทนที่ผู้ให้บริการด้านสุขภาพจะได้รับ ในส่วนพฤติกรรมของพนักงานหรือผู้ให้บริการด้านสุขภาพนั้น 3 ใน 4 (78%) ของบริษัทประกันชีวิตทั่วโลกกังวลว่า ผู้ให้บริการด้านสุขภาพมักจะแนะนำผลิตภัณฑ์และบริการที่มากเกินความจำเป็น ในส่วนปัจจัยที่สอง (45%) เชื่อว่า ผู้ประกันตน จำนวนมากมองหาแผนประกันที่ไม่เหมาะกับตน ปัจจัยลำดับที่สามคือจำนวนบริษัทประกันที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ ซึ่งอาจโยงไปถึงการมีพฤติกรรมการดูแลสุขภาพที่ไม่ดีพอนั่นเอง
การใช้บริการเครือข่ายผู้ให้บริการด้านสุขภาพแบบมีพันธะสัญญา (63%) และการบริการอนุมัติล่วงหน้าสำหรับผู้ป่วยใน (68%) ยังคงอยู่ในโปรแกรม การจัดการค่าใช้จ่ายด้านการดูแลสุขภาพสามอันดับแรก แต่อย่างไรก็ตามบริษัทประกันชีวิตส่วนใหญ่ (71%) มักจะวาง ข้อจำกัดในบริการบางประเภท เพื่อใช้เป็นข้ออ้างอิงในการรักษาพยาบาลบางรายการ โดยมีจุดประสงค์เพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล
ทั้งนี้จากการสำรวจยังพบข้อมูลจากผู้ตอบแบบสอบถามว่า ขีดความสามารถในการนำเสนอเรื่องของการส่งเสริมสุขภาพ ทั้งโดยตรงและโดยอ้อมจากภาคส่วนต่างๆ นั้นมีเพิ่มขึ้น โดยบริการสามอันดับแรก ที่เกือบ 2 ใน 3 ของบริษัทประกันเลือกนำเสนอ ได้แก่ การขอความคิดเห็นที่สองทางการแพทย์ การตรวจสอบข้อมูลทางชีวภาพ การให้ความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ และการใช้ชีวิตประจำวัน
ดร.ราเจชรี พาเรค ผู้อำนวยการฝ่ายสุขภาพองค์กร ทาวเวอร์ส วัทสัน เอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า จากรายงานพบว่า เกือบครึ่งหนึ่งของนายจ้างภายในภูมิภาคเอเชีย (44%) ได้ผนวกโปรแกรมการดูแลสุขภาพหรือพัฒนาคุณภาพชีวิต เข้ากับโปรแกรมสุขภาพขององค์กร เพื่อเป็นช่องทางหนึ่งในการควบคุมค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ "สิ่งนี้จึงช่วยผลักดันให้นายจ้างเห็นว่า พวกเขาสามารถจัดการค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพได้โดยองค์รวม โดยที่พนักงานสามารถมีส่วนร่วมเพื่อดูแลสุขภาพตัวเองในระยะยาวได้ และช่วยให้เกิดความเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมด้านสุขภาพในการดำเนินชีวิตได้อย่างยั่งยืน วิธีการจัดการค่าใช้จ่ายแบบใหม่นี้ได้ถูกนำมาใช้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และนายจ้างจะเห็นผลตอบแทนที่จับต้องได้จากการลงทุนนี้ ซึ่งไม่ใช่เพียงสุขภาพกายที่ดีขึ้นของพนักงานหรือ ความสุขที่เพิ่มขึ้นในที่ทำงานเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงความมั่นคงทางธุรกิจอีกด้วย" ดร.พาเรค กล่าวเพิ่มเติม
ด้าน คริส กล่าวเสริมว่า แนวโน้มที่เพิ่มสูงขึ้นของโปรแกรมด้านการดูแลสุขภาพส่งผลรวมถึงในประเทศไทยด้วย โดยบริษัทต่างๆ ต่างเริ่มหันมาใช้มาตรการการป้องกันเพื่อพัฒนาสุขภาพของพนักงาน เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน และสร้างการมีส่วนร่วม ไม่ว่าจะเป็นการเสนอแผนการช่วยเหลือ (Employee Assistance Plans) ในช่วงเวลาที่พนักงานมีความเครียด หรือการจัดให้มีการตรวจสุขภาพหรือประเมินผลด้านความเสี่ยงต่อสุขภาพของพนักงาน เพื่อให้พนักงานรับทราบและเข้าใจถึงสถานะทางด้านสุขภาพของตนเองทั้งในปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต ซึ่งในปัจจุบันหลายองค์กรในประเทศไทยต่างเริ่มยอมรับแนวคิดเรื่อง Happy Workplace มากขึ้นเพื่อช่วยปรับปรุงคุณภาพชีวิต และสุขภาพของพนักงาน ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านการดูแลสุขภาพของพนักงานลงได้ ในอนาคต
หมายเหตุ รายงานการสำรวจแนวโน้มด้านการรักษาพยาบาลทั่วโลก ประจำปี 2014 โดยทาวเวอร์ส วัทสัน ดำเนินการช่วงเดือนพฤศจิกายน 2013 - มกราคม 2014 โดย ได้รับข้อมูลจากบริษัทประกันชีวิตชั้นนำ ทั่วโลก จำนวน 173 บริษัท ใน 58 ประเทศ (ซึ่งบริษัทประกันชีวิตมีตัวแทนอยู่ในประเทศเหล่านั้น)
- 7 views