เลขาธิการสปสช.จวก สธ.เตะถ่วงไม่ยอมนัดถกบทบาทการทำงาน 2 องค์กร ซ้ำ ออกหนังสือสั่งเจ้าหน้าที่งดทำงานร่วม สปสช. ส่งผลวางแผนใช้งบปี 58 ไม่ได้ แถมผู้ป่วยยังเคว้งเหตุไม่ได้รับเงินชดเชยความเสียหายทางการแพทย์ตาม ม. 41 ถามกลับ ทำแล้วได้ประโยชน์อย่างไร ด้าน รองปลัด สธ. ระบุหารือคณะทำงานตลอด ไม่ทราบสื่อสารกันอย่างไร ย้ำ ออกหนังสือแค่ขอหยุดนิติกรรมการเงิน เพื่อวางกติกาชัดเจน เผย เตรียมหารือ หมอวินัย อังคารนี้ หลังหารือนัดแรก 8 พ.ค.
12 ก.ค. นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ส่งหนังสือถึงนายแพทย์สาธารณสุข (สสจ.) และผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไปทุกแห่งพิจารณางดเข้าร่วมกิจกรรมและการข้อตกลงใดๆ กับ สปสช.จนกว่าจะมีข้อสรุปที่ชัดเจน ว่า การที่สธ.ออกหนังสือสั่งการแบบนี้ออกมาทำให้ สสจ. ผู้อำนวยการโรงพยาบาลไม่กล้ามาประชุมร่วมกับ สปสช. เพราะกลัวจะมีความผิด ส่งผลให้การสรุปการทำงานปี 2557 และการวางแผนงบประมาณปี2558 ไม่สามารถดำเนินการต่อได้ เพราะไม่มีการสื่อสารกัน ซึ่งตนก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรเหมือนกัน และไม่ทราบว่าทำเช่นนี้แล้วเกิดประโยชน์กับประชาชนอย่างไร จึงอยากขอคำตอบจาก สธ.ในเรื่องนี้ด้วย
นอกจากนี้ยังส่งผลต่อการทำงานด้านอื่นๆ ทั้งการให้บริการประชาชน และการพิจารณาการจ่ายชดเชยความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขตามมาตรา 41 ซึ่งไม่ได้มีการหารือมาตั้งแต่เดือน ก.พ. และเพิ่งจะมีการหารืออีกครั้งเมื่อเดือน พ.ค. และตอนนี้ก็ไม่ได้มีการหารือกันอีก ทำให้ประชาชนได้รับความเสียหาย ทั้งนี้หากจะมองว่าเป็นเงื่อนไขบีบบังคับให้มีการแยกบทบาทการทำงานระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขายคือการยกเลิกสสจ.เป็นผอ.สปสช.จังหวัดแล้วนั้น ตรงนี้ก็ควรจะมีการหารือกันให้ชัดเจน ต้องมาหารือเพื่อเตรียมการสู่ระยะเปลี่ยนผ่านอย่างไร จะปิดบัญชีอย่างไร จะส่งไม้ต่ออย่างไร ถ้าไม่คุยกันก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ไม่มีความจำเป็นจะต้องทำอย่างนี้เพราะประชาชนไม่ได้ประโยชน์อะไร ที่ผ่านมาก็มีการนัดหมายว่าจะคุยกัน แต่คุยได้แค่ครั้งเดียวคือ วันที่ 8 พ.ค. พอหลังจากนั้น สธ.ก็เลื่อนนัดมาโดยตลอด ล่าสุดเพิ่งจะมานัดคุยอีกทีวันอังคารที่ 15 ก.ค.ที่จะถึงนี้
“ต้องถามกลับที่กระทรวงฯ ว่าการออกหนังสือฉบับนั้นมาแล้วทำให้ประชาชนได้ประโยชน์อย่างไร บอกให้ชัดผมจะได้เข้าใจว่าทำอย่างนี้แล้วประชาชนได้รับประโยชน์อะไร ผมไม่เข้าใจ และทำอย่างนี้ผมไม่คิดว่าจะเป็นการส่งเสริมความปรองดอง สมานฉันท์ในการทำงาน ผมไม่เห็นประโยชน์อะไร ถ้ากระทรวงเห็นประโยชน์ก็อยากให้บอกหน่อย”นพ.วินัย กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามถึงที่ผ่านมา สธ.เคยประกาศไม่ขอรับงบประมาณจาก สปสช. เรื่องนี้มีการแก้ไขอย่างไร นพ.วินัย กล่าวว่า สปสช.ยังจัดส่งเหมือนเดิม แม้ว่าทางโรงพยาบาลจะไม่ได้ส่งเอกสารมาให้ก็ตามโดยพิจารณาให้ในอัตรา 80-90 % ของงบประมาณที่เคยได้รับเมื่อปี 2556 เพราะว่าหากไม่ส่งไปแล้วโรงพยาบาลจะแย่ ซึ่งเมื่อปลายเดือนพฤษภาคมได้ส่งงบประมาณลงไป 7,000 ล้านบาท และในวันอังคารนี้จะส่งลงไปอีก 8,000 ล้านบาท
ด้าน นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัด สธ. กล่าวว่า เรื่องการออกหนังสือถึงสสจ.และผู้อำนวยการโรงพยาบาลนั้นเป็นการขอให้เจ้าหน้าที่สธ.อย่างเพิ่งทำนิติกรรมกับสปสช. ไม่ใช่ห้ามทำงานร่วมกัน เพราะว่าปีนี้งบประมาณขาขึ้นที่เสนอ คสช.ต่อหัวยังไม่รู้ว่าเท่าไหร่ คาดว่าอยู่ที่ประมาณ 3 พันบาท ซึ่งยังไม่มีความแน่นอน เช่นเดียวกับงบประมาณขาลงตรงนี้อยากจะสร้างกติกาใหม่ให้ดีกว่าเดิมให้เงินไปถึงหน่วยบริการทุกเม็ด ให้หน่วยบริการมีฐานะทางการเงินที่ดี เมื่อได้ความชัดเจนแล้วค่อยกลับมาทำนิติกรรมร่วมกันอีกครั้ง โดยจะมีการหารือร่วมกับนพ.วินัย ในวันอังคารที่จะถึงเรื่องนี้ ให้ชัดเจนหลังจากที่นัดหมายไม่ตรงกันมานาน โดยกติกาของการจ่ายเงินนั้นจะให้จ่ายตรงลงไปยังโรงพยาบาลและมากกว่าเดิม เขตบริการสุขภาพเป็นเพียงผู้ชี้เป้า กำหนดตัวชี้วัดประสิทธิภาพร่วมกับอปสข.เขต บทบาทที่โรงพยาบาลถูกวางเป็นโรงพยาบาลแม่ข่ายให้รักษาโรคยากๆ ก็จะได้รับเงินมากหน่อย อยากให้คน เงิน ของอยู่ด้วยกัน เขตไม่ได้ถือเงินเลยแม้แต่บาทเดียว
อย่างไรก็ตามตามข่าวที่ออกมาว่าเจ้าหน้าที่เกิดความสับสน และส่งผลกระทบต่อการทำงานนั้นไม่จริง มีเพียงเจ้าหน้าที่บางคนที่ชอบใจหรือได้ประโยชน์จาก สปสช. เท่านั้นที่ออกมาพูดเรื่องนี้ เพราะหนังสือที่ส่งไปนั้นระบุชัดเจนว่าต้องให้บริการประชาชนอย่างเต็มที่และดีกว่าเดิมเพราะมีเงินบำรุงอยู่แล้ว
“ตั้งแต่ที่มีการพูดเรื่องการปฏิรูปการทำงานของสธ. และสปสช.ให้มีความชัดเจนนั้น ที่ผ่านมาได้หารือร่วมกับ นพ.วีระวัฒน์ พันธ์ครุฑ รองเลขาธิการ สปสช. ร่วมกับคณะทำงานอีก 6 คน มาตลอด และใกล้จะมีข้อยุติแล้ว แต่ไม่ทราบไปสื่อสารภายในองค์กรกันอย่างไรจึงมีการเคลื่อนไหวกันตลอด” นพ.วชิระ กล่าว
รองปลัด สธ. กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีที่มีหลายโรงพยาบาลขึ้นป้ายต่อต้านนโยบายการจ่ายเงินค่าตอบแทนตามภาระงาน (P4P)การจ่ายเงินตามระเบียบ MOC และต่อต้านการแบ่งเขตบริการสุขภาพนั้น ตามหลักปกติเมื่อมีการปฏิรูปย่อมมีแรงต้านเป็นเรื่องธรรมดา การเปลี่ยนแปลงบางอย่างทำให้คนบางคนเป็นเรื่องธรรมดา แต่ถ้าคนส่วนใหญ่ได้ประโยชน์ ประชาชนได้ประโยชน์ก็ต้องทำ เช่น การจ่ายเงินค่าตอบแทนตามภาระงานอยู่ระหว่างการประเมิน ซึ่งระหว่างนี้ได้ขอให้ คสช.ขยายเวลาเยียวยาจาก 31 มี.ค.เป็น 30 ก.ย. แต่เพียงแค่มีการประเมินก็มีการยกป้ายแล้ว ที่จริงสธ.เตรียมผ่อนปรนให้กับโรงพยาบาลขนาดเล็กด้วยซ้ำ แต่ยังไม่มีข้อยุติ ทั้งนี้การบริหารค่าตอบแทนทั้งระบบจะมีการแก้ไข 2 ส่วนคือ ให้ลดความเหลื่อมล้ำระหว่างวิชาชีพที่แตกต่างกันมาก และลดความเหลื่อมล้ำในวิชาชีพเดียวกันในสถานพยาบาลต่างระดับ
- 4 views