เลขาธิการสปสช. เผยที่ประชุมสมัชชาสุขภาพโลก เตรียมบรรจุ “หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” เป็นเกณฑ์ “ตัวชี้วัดการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ ปี 2558” เหตุเป็นนโยบายช่วยประชาชนเข้าถึงระบบสุขภาพ ช่วยลดความยากจนจากค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาล สะท้อนต่างประเทศยอมรับบทบาท สปสช. บริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอย่างมีประสิทธิภาพ
นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าวถึง การเข้าร่วมประชุมการประชุมสมัชชาสุขภาพโลก (World Health Assembly: WHA) กรุงเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ที่ผ่านมา ว่า การประชุมสมัชชาสุขภาพโลกเป็นการประชุมเพื่อกำหนดนโยบายด้านสุขภาพระดับโลกที่สำคัญที่สุด ซึ่งมีการจัดขึ้นทุกปีในเดือนพฤษภาคม ซึ่งปีนี้เป็นครั้งที่ 67 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 19-24 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ทั้งนี้การประชุมสมัชชาสุขภาพโลกมีความสำคัญต่อสปสช.อย่างมาก เพราะเป็นเวทีที่ สปสช.ได้นำเสนอนโยบายที่ดำเนินการอยู่ไปสู่นโยบายระดับโลก อย่างเช่น ที่ผ่านมา สปสช.ได้นำเสนอเรื่องการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งถือเป็นประเด็นสำคัญ และได้มีการนำไปสู่การหารือในที่ประชุมสุดยอดของสหประชาชาติที่นิวยอร์กมาแล้ว เมื่อปี 2555 ซึ่งทำให้เกิดกระแสของการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในประเทศต่างๆ ทั่วโลก นอกจากนี้ยังนำไปสู่การขอประสานความร่วมมือจาก สปสช.ในการช่วยพัฒนาการสร้างระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในประเทศต่างๆ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา
นพ.วินัย กล่าวว่า สำหรับในการประชุมสมัชชาสุขภาพโลกปีนี้ สปสช.ได้มีส่วนในการผลักดันเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ให้ได้รับการบรรจุไว้ใน “ตัวชี้วัดการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ” (Millennium Development Goals : MDG) ซึ่งจะเป็นตัวชี้วัดชุดใหม่ หลังจากปี 2558 จากปัจจุบันตัวชี้วัดประกอบด้วยตัวชี้วัด 8 เรื่องสำคัญ คือ 1.การขจัดความยากจนและความหิวโหย 2.การพัฒนาการศึกษาขั้นพื้นฐาน 3.การส่งเสริมความเท่าเทียมกันระหว่างเพศ 4.การลดอัตราการตายของเด็ก 5.การพัฒนาสุขภาพของสตรีมีครรภ์ 6.การป้องกันโรคเอดส์ มาลาเรีย และโรคติดต่ออื่นๆ 7.การรักษาสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน 8.การส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาในโลก
“การดำเนินระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ได้รับการบรรจุเป็นตัวชี้วัดการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ เนื่องจากการสร้างระบบหลักประกันสุขภาพไม่ใช่เป็นเพียงแค่เรื่องสุขภาพอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังเป็นการลดความยากจนและความยากไร้ให้กับประชากรด้วย เพราะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลของประชาชนลงได้” เลขาธิการ สปสช. กล่าว
นพ.วินัย กล่าวว่า นอกจากเวทีโลกแล้ว ในเวทีระดับภูมิภาค ที่ผ่านมา สปสช.ยังได้ให้ความร่วมมือประเทศต่างต่างในอาเซียนบวกสาม (จีน เกาหลี และญี่ปุ่น) ในการช่วยเหลือผลักดันเพื่อให้ทุกประเทศบรรลุระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งความคืบหน้าการดำเนินขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมหารือกับทางสำนักพัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ในการประสานความร่วมมือเพื่อสนับสนุนการช่วยเหลือประเทศต่างๆ ในการสร้างระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดย สปสช.เป็นกลไกหลักในการสร้างความร่วมมือนี้ สะท้อนให้เห็นถึงบทบาท สปสช.ซึ่งต่างประเทศให้รับการยอมรับการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยคนไทยเข้าถึงการรักษา ซึ่งในอนาคตเชื่อว่า สปสช. มีบทบาทในระดับเวทีต่างประเทศมากขึ้น
- 6 views