นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า วันที่ 17พฤษภาคมทุกปี สมาพันธ์ความดันโลหิตสูงโลก (World Hypertension League) กำหนดให้เป็นวันความดันโลหิตสูงโลก เพื่อกระตุ้นเตือนให้ประชากรโลกตื่นตัวในการดูแลและป้องกัน เนื่องจากโรคนี้มีผลกระทบรุนแรงต่อสุขภาพ ทำให้เส้นเลือดแข็งขึ้น เลือดและออกซิเจนไหลเวียนไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ได้น้อยลง เป็นสาเหตุของโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต ซึ่งเกิดจากเส้นเลือดสมองแตกหรือตีบ เบาหวาน โรคหัวใจ โรคไตวาย ตามมาได้อีกโดยในปีนี้ กำหนดคำขวัญว่า “ท่านทราบระดับความดันโลหิตของท่านหรือไม่ ?” (Know Your Blood Pressure) เพื่อให้รู้ความผิดปกติของตัวเองตั้งแต่เนิ่น ๆ
ขณะที่องค์การอนามัยโลกรายงานว่า โรคความดันโลหิตสูง เป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้ประชาชนอายุสั้น ขณะนี้ทั่วโลกมีผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงถึง 1,000ล้านคน เสียชีวิตปีละเกือบ 8ล้านคน เฉลี่ยประมาณนาทีละ 15คน โดย 1ใน 3พบในวัยผู้ใหญ่ และคาดว่าในปี พ.ศ.2568ประชากรวัยผู้ใหญ่ทั้งโลกจะป่วยเป็นโรคนี้เพิ่ม 1,560ล้านคน ส่วนในไทยแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยจากการตรวจวัดความดันโลหิตให้แก่ประชาชนอายุ 15ปีขึ้นไปจำนวนกว่า 23ล้านคนทุกปี และรณรงค์ให้ประชาชนตรวจสุขภาพประจำปี ในปี 2556พบผู้ป่วยความดันโลหิตสูงรายใหม่ 90,564คน ซึ่งพบทั้งคนที่มีอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่มีความดันโลหิตสูงกว่าปกติในปี 2555และคนปกติ
ส่วนผลการสำรวจสุขภาพโดยตรวจร่างกายครั้งล่าสุดของไทย ในปี 2551-2552พบประชาชนไทยที่มีอายุ 15ปีขึ้นไป มีภาวะความดันโลหิตสูงเกือบ 11ล้านคน สิ่งที่น่าวิตกอย่างยิ่งคือผู้ที่เป็นประมาณร้อยละ 50ไม่เคยรู้ตัว เนื่องจากไม่เคยตรวจสุขภาพมาก่อน พบในผู้ชายมากถึง 60%และยังพบด้วยว่าผู้ที่เป็นโรค 8-9%ไม่ได้รับการรักษา ส่งผลให้อาการทวีความรุนแรง ส่วนในกลุ่มที่ได้รับการรักษามีเพียง 1ใน 4ที่สามารถควบคุมระดับความดันโลหิตได้ดี
นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง จะมีระดับความดันโลหิตสูงกว่า 140/90มิลลิเมตรปรอท โดยมีสัญณาณอาการเตือน เช่น ปวดมึนที่บริเวณท้ายทอย วิงเวียน ปวดศีรษะตุบตุบ หากเป็นมานานหรือระดับความดันสูงมากๆ จะมีเลือดกำเดาไหล ตามัว หรือมองเห็นภาพซ้อน มือสั่น หรือมือเท้าชา หากมีอาการปวด วิงเวียนศีรษะ ตามัว เจ็บหน้าอก หัวใจเต้นเร็ว หอบเหนื่อย หายใจลำบากในตอนกลางคืน ปัสสาวะออกน้อย โดยเฉพาะในเวลากลางคืนหรือปัสสาวะเป็นเลือด ให้รีบไปพบแพทย์โดยด่วน
สำหรับข้อแนะนำในการสร้างวินัยการควบคุมความดันโลหิตของผู้ป่วย ควรจะตรวจวัดความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง จดบันทึกทุกครั้ง ควรวัดในช่วงเช้าหรือช่วงค่ำก่อนนอน และวัดในเวลาเดียวกันทุกวัน เพื่อเป็นข้อมูลแก่แพทย์ผู้รักษาในการปรับลดการจ่ายยาควบคุมความดันให้เหมาะสม รวมทั้งต้องควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้อ้วน ลดอาหารสำเร็จรูป อาหารหมักดอง อาหารสำเร็จรูป อาหารจานด่วนซึ่งมีปริมาณไขมัน น้ำตาล และเกลือสูง ที่สำคัญผู้ป่วยจะต้องกินยาควบคุมความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอตามที่แพทย์สั่ง ซึ่งยาจะมีผลในการลดความดันโลหิต ป้องกันโรคหัวใจ โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต
- 170 views