ประชุมอปสข.ภาคเหนือซ้ำร้อยใต้ สสจ. รพศ. รพท. เข้าร่วมน้อย เหตุข่าวลือปลัดสธ.สั่งห้ามร่วมประชุม ด้านรพ.ชุมชนโวย ระดับนโยบายทะเลาะกัน อย่าสั่งให้คนทำงานไม่ประสานกัน เหตุส่งผลกระทบกับประชาชน ชี้แม้คนไทยมีหลักประกันสุขภาพ แต่ยังมีปัญหาการเข้าถึงบริการ สธ.และสปสช.ต้องเร่งแก้ปัญหานี้ ไม่ใช่ตั้งแง่เปิดศึก ด้านเลขาธิการสปสช.ยอมรับ เดินสายประชุมอปสข.ทั่วประเทศ เพราะสธ. และสปสช.มีความเห็นต่าง จึงต้องรับฟังปัญหาในพื้นที่ ติดตามการใช้งบ และแก้ไขปัญหาประชาชนเข้าไม่ถึงบริการ
เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2557 ณ จ.พิษณุโลก นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) เป็นประธานเปิดการประชุมคณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพเขต(อปสข.) เขตภาคเหนือและภาคกลางตอนบน ได้แก่ เขต 1 เชียงใหม่ เขต 2 พิษณุโลก และเขต 3 นครสวรรค์ วาระพิเศษ เพื่อแก้ไขปัญหาการเข้าไม่ถึงบริการสาธารณสุขในพื้นที่ และระดมความเห็นการปฏิรูประบบหลักประกันสุขภาพในบริบทพื้นที่ภาคเหนือและภาคกลางตอนบน โดยมีคณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพเขต(อปสข.) หน่วยบริการสาธารณสุขในพื้นที่ภาคเหนือและภาคกลางตอนบน และภาคประชาชน กว่า 220 คน เข้าร่วมการประชุมดังกล่าว
นางศิวะพร คงทรัพย์ อนุกรรมการหลักประกันสุขภาพเขต 2 พิษณุโลก ตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชน กล่าวว่า ภาคเหนือยังพบว่าปัญหาผู้ป่วยบางโรคไม่สามารถเข้าถึงการรักษาได้ และยังมีสภาพปัญหาด้านสาธารณสุขเฉพาะพื้นที่ เช่น ปัญหาหมอกควันในทุกปี ที่ทำให้เกิดโรคระบบทางเดินหายใจ และลักษณะภูมิประเทศกว้างขวางและเป็นภูเขา ทำให้เดินทางยากลำบาก ผู้ป่วยบางส่วนเข้าไม่ถึงบริการ จึงต้องมีการกระตุ้นให้จัดทำระบบการค้นหาและคัดกรองผู้ป่วยเพื่อเข้ารับการรักษา ขณะที่ภาคเหนือตอนล่าง มีปัญหาการเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมอง หลอดเลือดหัวใจ ในลำดับต้นๆ และปัญหาการเข้ารับบริการ ในผู้ป่วยเบาหวาน ความดันโลหิตสูง วัณโรค และการติดเชื้อในกระแสโลหิต อปสข. จึงได้พยายามส่งเสริมให้เกิดเครือข่ายในพื้นที่
“ซึ่งประเด็นนี้อยากให้กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) และสปสช.เร่งแก้ไข เนื่องจากแม้ว่าจะมีหลักประกันสุขภาพ แต่ก็ไม่มีประโยชน์หากประชาชนไม่สามารถได้รับการรักษาในโรคที่จำเป็นได้ โดยเฉพาะกลุ่มโรคค่าใช้จ่ายสูง ที่ต้องรอคิวนาน จนผู้ป่วยบางรายเสียชีวิตไปก่อนที่จะได้การรักษา”นางศิวะพร กล่าว
นพ.ธวัช สุนทราจารย์ ประธานอปสข.เขต 3 นครสวรรค์ กล่าวว่า พื้นที่ยังมีปัญหาการเข้าถึงบริการสุขภาพระดับบริการชั้นสูงหรือตติยภูมิ เนื่องจากเป็นเขตพื้นที่เดียวในประเทศไทย ที่ยังไม่มีศูนย์บริการตติยภูมิเฉพาะด้านโรคหัวใจและหลอดเลือด และด้านรังสีรักษาโรคมะเร็ง ซึ่งอปสข.ก็พยายามแก้ไข ทั้งสนับสนุนงบค่าเสื่อมตติยภูมิเพื่อเพิ่มศักยภาพรพศ. รพท. 5 แห่ง รวมถึงความร่วมมือกับรพ.เอกชน และรพ.มหาวิทยาลัยนเรศวร
ด้านเลขาธิการสปสช.กล่าวว่า การประชุมอปสข.พื้นที่ภาคเหนือวาระพิเศษนี้ ก็เพื่อแก้ไขปัญหาระบบบริการสาธารณสุขที่อาจจะชะงักงันในช่วงที่เกิดความคิดเห็นที่แตกต่างในประเด็นที่สธ.แย้งว่า สสจ.จังหวัดจะยังเป็นสาขาจังหวัดของสปสช.หรือไม่ และมาเพื่อเร่งรัดการใช้งบประมาณ ผ่านกลไก อปสข. ที่มีกระจายอยู่ทุกเขตทั่วประเทศไทย ซึ่งจากการประชุมอปสข.สัญจรที่ภาคใต้ครั้งแรก ก็พบว่า ยังมีปัญหาการเข้าถึงบริการสาธารณสุข เช่นเดียวกับพื้นที่ภาคเหนือและภาคกลางตอนบน แต่ก็มีความแตกต่างในบางโรค ซึ่งแต่ละพื้นที่ก็มีบริบทต่างกัน
“สปสช.จึงส่งเสริมกลไกอปสข.ซึ่งเป็นกลไกในพื้นที่ในการส่งเสริมและพัฒนาระบบบริการสาธารณสุขที่สอดคล้องกับปัญหาของแต่ละพื้นที่ และจะรวบรวมปัญหาแต่ละพื้นที่ และข้อเสนอจากภาคส่วนต่างๆ ทำเป็นแผนการปฏิรูประบบหลักประกันสุขภาพที่สอดคล้องกับบริบทของแต่ละพื้นที่ต่อไป เพื่อทำให้ประชาชนได้เข้าถึงบริการสาธารณสุขที่จำเป็น”นพ.วินัย กล่าว
นพ.บัลลังก์ อุปพงษ์ ผู้อำนวยการรพ.พรานกระต่าย จ.กำแพงเพชร กล่าวว่า การประชุมวันนี้ สสจ.ขอความร่วมมือไม่ให้เข้าร่วมประชุมกับสปสช. โดยอ้างว่าเป็นคำสั่งของปลัด ซึ่งจะเห็นว่าเหมือนที่เกิดขึ้นตอนประชุมอปสข.ที่ภาคใต้ มีแต่รพ.ชุมชนร่วมประชุม แต่ขาดสสจ. กับรพศ. และรพท. ทั่วไป ส่วนตัวไม่เห็นด้วย เรื่องระดับนโยบายมีปัญหาอะไรก็ว่ากันไป แต่อย่าสั่งให้ระดับปฏิบัติการไม่คุยกัน หรือไม่ทำงานร่วมกัน สปสช.กับสธ. ยังไงก็ต้องทำงานร่วมกันเพื่อประชาชน มีปัญหากันข้างบน แล้วให้ข้างล่างไม่คุยกันไม่ถูกต้อง ในระดับพื้นที่ เรามีปัญหาเรื้อรังมานาน คือ ผู้ป่วยที่ต้องได้รับการรักษา แต่เข้าไม่ถึงบริการ รวมถึงโรคง่ายๆที่รักษาได้ เช่น ไส้ติ่งแตก ทุกวันนี้มีสถิติผู้ป่วยไส้ติ่งแตกเพิ่มสูงขึ้น ทั้งที่ไส้ติ่งเป็นอาการที่ตรวจพบได้ง่าย ไม่ซับซ้อน และสามารถนัดผ่าตัดได้ก่อน การปล่อยให้มีไส้ติ่งแตก จึงถือว่าเป็นข้อบกพร่องของการพัฒนาระบบบริการ แทนที่สธ.จะแก้ไขปัญหานี้ แต่กลับตั้งแง่ในระดับนโยบาย จนทำให้การทำงานและความร่วมมือระหว่างกันป่วนไปหมด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมดังกล่าวมีนายแพทย์สสจ.ในพื้นที่ภาคเหนือและกลางตอนบนเข้าร่วมน้อยมากเช่นเดียวกับที่มีการประชุมอปสข.ในภาคใต้เมื่อ 30 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยผอ.รพ.ชุมชนแห่งหนึ่งเปิดเผยว่า เป็นเพราะมีคำสั่งจากปลัดสธ.ไม่ให้เข้าร่วมเวทีการประชุมของสปสช. ทั้งเวทีอปสข. และเวทีรับฟังความคิดเห็น ทำให้การประชุมวันนี้ขาด นพ.สสจ.และ ผอ.รพ.ศูนย์หลายคน แต่รพ.ชุมชนยังคงยืนยันเข้าร่วมเพราะมีวาระสำคัญเกี่ยวกับ รพ.และผู้ป่วย และไม่เห็นด้วยที่มีคำสั่งห้ามไม่ให้เข้าร่วมประชุมจากผู้มีอำนาจ เพราะทำให้ประชาชนเสียประโยชน์ รพ.ขาดงบประมาณ
- 10 views