ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค แจ้งว่าศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหภาพยุโรป (European Centre for Disease Prevention and Control : ECDC) มีการเผยแพร่ข้อมูล ณ วันที่ 30 เมษายน 2557 ว่า ทั่วโลกมีรายงานผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ใหม่ 2012 แล้ว 424 ราย เสียชีวิต 131 ราย มีทั้งที่ติดเชื้อในตะวันออกกลาง หรือมีความเชื่อมโยงโดยตรงกับผู้ที่ติดเชื้อในตะวันออกกลาง อัตราป่วยตาย ร้อยละ 30.90 โดยพบรายงานผู้ป่วยทั้งหมดจาก 15 ประเทศ ดังนี้ ซาอุดิอาระเบียสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กาตาร์ จอร์แดน โอมาน คูเวต อียิปต์ อังกฤษ เยอรมันนี ฝรั่งเศส อิตาลี กรีซ ตูนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ โดยองค์การอนามัยโลก แนะนำให้ให้ประเทศสมาชิกทุกประเทศดำเนินการเฝ้าระวังโรคในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการทางเดินหายใจรุนแรงเฉียบพลัน และติดตามรูปแบบความผิดปกติต่างๆ อย่างใกล้ชิด และยังไม่แนะนำให้มีการจำกัดการเดินทางไปยังประเทศใด และไม่แนะนำให้ตั้งจุดตรวจคัดกรองพิเศษบริเวณทางเข้า-ออกประเทศ
ทั้งนี้ ชาวซาอุดีอาระเบียกำลังหวาดกลัวการระบาดของเชื้อไวรัสเมอร์สอย่างมาก เพราะมีผู้เสียชีวิตแล้วเกือบ 100 ราย โดยภายในเดือน เม.ย. เพียงเดือนเดียว มีผู้เสียชีวิตจากไวรัสเมอร์สในซาอุดีอาระเบียแล้วถึง 31 ราย หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ของจำนวนผู้เสียชีวิตในประเทศทั้งหมด หลังจากมีการพบเชื้อตัวนี้ครั้งแรกเมื่อเดือน เม.ย. 2555
นอกจากนั้น ด้านบรรดาผู้เชี่ยวชาญยังประสบปัญหาในการทำความเข้าใจไวรัสเมอร์ส ซึ่งในขณะนี้ยังไม่มีวัคซีนสำหรับป้องกัน โดยมันถูกพิจารณาว่าเป็นไวรัสที่มีอัตราทำให้เสียชีวิตสูงกว่าไวรัส 'ซาร์ส' ซึ่งอยู่ในกลุ่มโคโรนาไวรัสเช่นเดียวกัน เพียงแต่มีอัตราการติดต่อของเชื้อต่ำกว่า
ไวรัส โคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2012 หรือ เมิร์สคอฟ (Middle East Respiratory Syndrome Coronavirus : MERS-CoV) เป็นไวรัสสายพันธุ์หนึ่งในกลุ่ม โคโรน่าไวรัส เรียกว่า novel coronavirus : nCoV เพิ่งค้นพบในปี พ.ศ.2555 แม้ขณะนี้ยังไม่พบผู้ป่วยในประเทศไทย แต่พบผู้ป่วยอย่างต่อเนื่องใน 13 ประเทศ ได้แก่ จอร์แดน ซาอุดิอาระเบีย กาตาร์ อังกฤษ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ฝรั่งเศส ตูนีเซีย เยอรมนี อิตาลี โอมาน คูเวต มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ โดยพบผู้ป่วยมากที่สุดในซาอุดีอาระเบีย โดยผู้เชี่ยวชาญจากองค์การอนามัยโลกคาดการณ์ว่าไวรัสสายพันธุ์ดังกล่าวเกิดมาจากสัตว์ เช่น อูฐ, ค้างคาว
การรักษาในปัจจุบันยังไม่มีการรักษาเฉพาะ เช่น ยาต้านไวรัส เนื่องจากโรค MERS-CoV เป็นโรคอุบัติใหม่ ข้อมูลการใช้ยาต้านไวรัสมีค่อนข้างจำกัด เช่นเดียวกับวัคซีนป้องกันโรคยังไม่สามารถผลิตได้ ณ ปัจจุบัน ดังนั้นการรักษาส่วนใหญ่จึงให้การรักษาตามอาการเป็นหลัก รวมทั้งรักษาประคับประคองโดยเฉพาะด้านระบบหายใจ ให้การช่วยเหลือภาวะขาดออกซิเจน และติดตามอาการผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด
สำหรับประเทศไทย วันที่ 4 พ.ค.นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กล่าวว่า สำหรับประเทศไทย มีระบบการเฝ้าระวังโรคที่เข้มแข็ง และดำเนินการสอบสวน ป้องกัน ควบคุมโรคในผู้ป่วยเข้าข่ายการเฝ้าระวังโรคใน 3 กลุ่ม ได้แก่ 1. ผู้ป่วยปอดบวมที่มีประวัติสัมผัสเชื้อโรคนี้ 14 วันก่อนมีอาการป่วย เช่น เดินทางมาจากประเทศที่มีการระบาดของโรค บุคคลากรทางการแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วยเข้าข่าย 2. ผู้ป่วยปอดอักเสบรุนแรง หรือภาวะระบบทางเดินลมหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน 3. ผู้ป่วยติดเชื้อระบบทางเดินลมหายใจส่วนบน เช่น มีอาการไข้ ไอ น้ำมูก เจ็บคอ ที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยเข้าข่าย ภายในช่วงเวลา 14 วันก่อนหรือหลังวันเริ่มป่วย ขณะนี้มีผู้ป่วยเข้าข่ายเฝ้าระวังโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ 2012 จำนวนทั้งหมด 2 ราย สัปดาห์นี้มีผู้ป่วยเข้าข่ายเฝ้าระวังเพิ่ม 1 ราย ผู้ป่วยเพศหญิง อายุ 63 ปี สัญชาติอินโดนีเชีย มีโรคประจำตัว คือ โรคหัวใจ เริ่มป่วยเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2557 ซึ่งระหว่างส่งต่อไปรักษาที่สถาบันบำราศนราดูร ปรากฎว่า ผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้น ได้ทำการปั๊มหัวใจ กระทั่งหัวใจกลับมาเต้นอีกครั้งจึงส่งต่อไปรพ.เอกชนแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร ต่อมาผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้นอีก และเสียชีวิต
"จากการตรวจสอบเบื้องต้นไม่พบเชื้อไวรัสเมอร์ส โควี โดยกรมควบคุมโรค มีมาตรการ อาทิ แนะนำให้บุคลากรทางการแพทย์และผู้สัมผัสใกล้ชิดเฝ้าระวังอาการ โดยหากมีอาการไข้ ไอ หายใจหอบเหนื่อยให้รีบแจ้งกับสำนักระบาดวิทยาทันที สำหรับเจ้าหน้าที่ประจำด่านควบคุมโรคที่สนามบินสุวรรณภูมิ ได้ปฏิบัติตามแนวทางการปฏิบัติงานเฝ้าระวังโรคติดเชื้อโคโรน่าไวรัส สายพันธุ์ใหม่ 2012 อย่างเข้มข้น โดยการประสานหน่วยงานทั้งหน่วยรักษาพยาบาล และหน่วยสอบสวนโรค เพื่อการดูแลผู้ป่วยอย่างรวดเร็วและการควบคุมโรคอย่างเหมาะสมต่อไป" นพ.โสภณ กล่าว
- 6 views