สธ.เตือนภัยประชาชนที่นิยมบริโภคหน่อไม้ต้มอัดปี๊บหรือบรรจุถุงพลาสติก ระวังอันตรายจากปนเปื้อนพิษของเชื้อที่มีชื่อว่าคลอสทรีเดียม โบทูลินัม ปีนี้พบผู้ป่วยแล้ว 4 รายที่จังหวัดชัยภูมิและชลบุรี พิษชนิดนี้รุนแรงทำให้กล้ามเนื้อเป็นอัมพาต อ่อนแรง หยุดหายใจได้ แนะวิธีบริโภคที่ปลอดภัย ให้นำมาต้มซ้ำอีกให้เดือดนาน 15 นาทีเพื่อทำลายพิษ หากพบว่าปี๊บที่บรรจุบวม ปูด อย่าเปิด หรือหากพบ น้ำแช่มีฟอง กลิ่นเหม็น อย่าชิมเด็ดขาด ให้นำไปทำลายทิ้ง โดยการฝังดิน หากมีอาการผิดปกติหลังบริโภค เช่น ตาพร่ามัว ลิ้นแข็ง ชาตามมือ ให้รีบพบแพทย์ ลดความเสี่ยงเสียชีวิตจากระบบหายใจล้มเหลว
นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า เมื่อเร็วๆนี้ ได้รับรายงานจากสำนักระบาดวิทยา พบผู้ป่วยมีอาการอาหารเป็นพิษรุนแรง หลังรับประทานหน่อไม้รวกต้มบรรจุถุงปนเปื้อนสารพิษโบทูลินัม จำนวน 4 ราย โดยเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลชัยภูมิ 2 ราย มีอาการปวดจุกแน่นท้อง ตาพร่ามัว ลิ้นแข็ง เสียงสั่น กลืนไม่ได้ ชาตามมือ การทรงตัวไม่ดี หนังตาตก คลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลวเป็นน้ำ และอีก 2 รายเข้ารักษาที่โรงพยาบาลชลบุรี ทั้ง 2 ราย มีอาการเวียนศีรษะ คลื่นไส้ ลิ้นแข็ง พูดไม่ชัด ตาบวม จากการสอบสวนโรคพบว่าผู้ป่วย 4 รายนี้ ได้รับประทานหน่อไม้รวกต้มบรรจุถุงซึ่งญาติที่อยู่บ้านหนองแวง อ.หนองบัวแดง จ.ชัยภูมิ ทำส่งมาให้ โดยพบหน่อไม้มีรสชาติเปลี่ยน สากลิ้น น้ำแช่หน่อไม้ในถุงเป็นฟอง มีกลิ่นเหม็นรุนแรง และยังได้ส่งหน่อไม้ชุดเดียวกันนี้ให้ญาติที่ อ.เกษตรสมบูรณ์ จ.ชัยภูมิ และจังหวัดอื่น เช่นหนองบัวลำภู สระแก้ว และชลบุรีด้วย
นายแพทย์ณรงค์กล่าวต่อว่า ได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชัยภูมิ ส่งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขลงพื้นที่ไปให้คำแนะนำและทำลายหน่อไม้ชุดที่มีการปนเปื้อนทั้งหมด และเผยแพร่ความรู้แก่ประชาชนในการรับประทานหน่อไม้ต้มบรรจุปี๊บหรือถุงให้ปลอดภัย
ด้านนายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า เชื้อคลอสทรีเดียมโบทูลินูม (Clostridium botulinum) พบทั่วไปในธรรมชาติ ทั้งในดิน ห้วย หนอง คลองบึง ทะเล เป็นต้น มักพบในสัตว์ที่หากินในสถานที่เหล่านี้ และในพืชผักที่ปลูกในดิน เชื้อจะสร้างสปอร์ซึ่งทนความแห้งแล้งได้ดี และปะปนมากับอาหารแห้ง เช่น เครื่องเทศ แป้ง เป็นต้น เชื้อโรคนี้จะปล่อยสารพิษที่มีชื่อว่าโบทูลินัมที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค 4 ชนิด คือ 1.ชนิดเอ มีพิษรุนแรง อัตราการตายสูงถึงร้อยละ 60 – 70 2.ชนิดบี ซึ่งทนความร้อนสูง และมีชีวิตอยู่ในอาหารได้นานกว่าชนิดอื่น ๆ อัตราการตายร้อยละ 25 3. ชนิดอี พบการระบาดในอาหารทะเล และ 4. ชนิดเอฟพบในอาหารทะเล พบการระบาดได้ประปราย มีอัตราการตายต่ำ อย่างไรก็ดี สปอร์ของเชื้อและสารพิษที่กล่าวมา สามารถทำลายได้ง่ายโดยการต้มให้เดือดด้วยความร้อนที่อุณหภูมิ 80 องศานาน 15 นาที
ทั้งนี้ หลังรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนโบทูลินัม ประมาณ 12 – 36 ชั่วโมง จะมีอาการทางระบบประสาท ได้แก่ เหนื่อย อ่อนแรง วิงเวียนศีรษะ ตาพร่ามัว หรือเห็นภาพซ้อน หนังตาตก ปากแห้งกลืนหรือพูดลำบาก อาจมีอาการท้องเสีย ท้องผูก หรือท้องบวมโตได้ ต่อมากล้ามเนื้อจะเกิดอัมพาต เริ่มจากใบหน้าลงไปที่ไหล่ แขนส่วนบนและล่าง ต้นขาและน่อง ตามลำดับ ซึ่งหากกล้ามเนื้อกระบังลมเป็นอัมพาตจะทำให้การหายใจล้มเหลว และเสียชีวิตได้ ผู้ป่วยมักไม่มีไข้ ยกเว้นมีการติดเชื้อแทรกซ้อน แต่สติการรับรู้มักปกติ
นายแพทย์โสภณกล่าวต่อไปว่า ผู้ป่วยที่ได้รับพิษชนิดนี้จะต้องรีบมาพบแพทย์โดยเร็วที่สุด เพื่อให้ยาต้านพิษหรือแอนตี้ท็อกซิน (Antitoxin) และดูแลระบบการหายใจอย่างใกล้ชิด ป้องกันปัญหาการหายใจล้มเหลว ซึ่งจะทำให้เสียชีวิตได้ ทั้งนี้ โรคพิษโบทูลิซึม พบได้ประปรายทั่วโลก ในไทยมีรายงานครั้งแรกในพ.ศ.2541ที่จังหวัดน่าน จากการรับประทานหน่อไม้อัดปี๊บที่ไม่ได้ต้มก่อน มีผู้ป่วย 13 ราย เสียชีวิต 2 ราย และพบประปรายในบางปี ในเขตภาคเหนือ เช่นจ.ลำปาง ในพ.ศ.2546 มีผู้ป่วย 11 ราย เสียชีวิต 1 ราย จากสาเหตุเดียวกัน การระบาดครั้งใหญ่ที่สุดเกิดขึ้นที่จ.น่านเมื่อ พ.ศ.2549 มีผู้ป่วย 209 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต สาเหตุจากรับประทานหน่อไม้ปี๊บไม่ได้ต้ม ถือเป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์และสาธารณสุขครั้งสำคัญของประเทศ ต้องระดมแพทย์เชี่ยวชาญ เครื่องช่วยหายใจ รวมถึงการสั่งแอนติท็อกซินจากต่างประเทศเข้ามาแก้พิษโดยเร่งด่วน และส่งต่อผู้ป่วยไปยังสถานพยาบาลต่าง ๆ เป็นต้น
“ขอย้ำเตือนประชาชนที่นิยมบริโภคหน่อไม้ต้มอัดปี๊บ หรือบรรจุในถุงพลาสติก โดยเฉพาะเมนูที่ใช้เป็นผักจิ้มน้ำพริกต่างๆ หรือใช้ตำ เช่นใส่ผสมรวมในส้มตำ ซุปหน่อไม้ เป็นต้น ก่อนนำมาบริโภคทุกครั้ง ขอให้นำมาต้มซ้ำให้เดือดนาน 15 นาที เพื่อให้ความร้อนทำลายเชื้อโรคทุกชนิดที่ปนเปื้อนอยู่ให้หมดไป หากพบว่าปี๊บที่บรรจุหน่อไม้บวม ไม่ควรซื้อมาบริโภค ในกรณีที่พบว่ามีกลิ่นหรือสีผิดปกติ ไม่ควรนำมารับประทานหรือลองชิมอย่างเด็ดขาด ขอให้นำไปทำลายทิ้ง โดยการฝังดิน” นายแพทย์โสภณกล่าว
อย่างไรก็ดี หากประชาชนบริโภคอาหารที่สงสัยจะมีการปนเปื้อนสาพิษโบทูลินัม และมีอาการผิดปกติ เช่น อาการอ่อนแรง วิงเวียนศีรษะ ตาพร่ามัว หนังตาตก ปากแห้งกลืนหรือพูดลำบาก ขอให้บอกญาติและรีบไปพบแพทย์ทันทีเพื่อรับการตรวจรักษาที่ถูกต้อง ป้องกันการเสียชีวิต ขณะเดียวกันจะเป็นประโยชน์ในการสอบสวนโรค เพื่อหาสาเหตุได้อย่างรวดเร็วและควบคุมการระบาด โดยเฉพาะอาหารที่พบการปนเปื้อนเชื้อ ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่สำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ โทร. 0 2590 3159, 3238 หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422 นายแพทย์โสภณกล่าว
- 7170 views