ก่อนที่ประเทศไทยจะมีโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รายจ่ายด้านสุขภาพเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้คนไทยจำนวนมากต้องยากจน ทั้งนี้ เพราะ คนไทยต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่าย ในการรักษาอาการเจ็บป่วย คิดเป็นสัดส่วนที่สูงกว่า 1 ใน 10 ของภาระค่าใช้จ่ายเพื่อการบริโภคโดยรวม ซึ่งในสากลถือว่าเป็นเกณฑ์รายจ่ายที่อาจทำให้สิ้นเนื้อประดาตัวได้

จนกระทั่งในปี 2545 ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าก็ได้ถือกำเนิดขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญคือ ต้องการให้คนไทยสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็นได้มากขึ้น และช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ เพื่อไม่ให้คนไทยต้องกลายเป็นคนยากจนเพราะการแบกรับค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพอีกต่อไป

การวิจัยเรื่อง “การลดความยากจนจากรายจ่ายด้านสุขภาพ : ผลลัพธ์ของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในประเทศไทย”ได้ทำการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ รวม 8 ปี ทั้งก่อนและหลังมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ดังนี้

ก่อน มีหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ศึกษาข้อมูลในปี 2539, 2541, 2543 และ 2545

หลังมีหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ศึกษาข้อมูลในปี  2547, 2549, 2550 และ 2551

จากการวิเคราะห์โดยใช้ตัวแบบสมการถดถอยเชิงเส้นตรงแบบเป็นช่วง เปรียบเทียบว่า หากไม่มี กับการมีนโยบายนี้ พบว่า ก่อนที่จะมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ครัวเรือนไทยมากกว่า 200,000 ครัวเรือนที่เคยมีฐานะอยู่ในระดับสูงกว่าเส้นความยากจนของประเทศ ต้องตกมาอยู่ใต้เส้นความยากจน เพราะภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ แต่หลังจากที่ประเทศไทยมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าใช้ครอบคลุมทั่วทั้งประเทศแล้ว ภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของครัวเรือนมีแนวโน้มลดลง จำนวนครัวเรือนที่ต้องตกอยู่ภายใต้เส้นความยากจน เพราะรายจ่ายด้านสุขภาพก็มีจำนวนลดลงตามไปด้วย โดยพบว่าในปี 2551 จำนวนมีครัวเรือนไทยที่ต้องยากจนเพราะภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพเหลืออยู่เพียง 80,000 ครัวเรือนเท่านั้น

สรุปได้ว่า การออกแบบระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยคำนึงถึงทั้งด้าน “ความกว้าง” คือ จำนวนประชากรที่ครอบคลุม และ “ความลึก” คือขอบเขตของสิทธิประโยชน์นั้น มีความสำคัญต่อการป้องกันไม่ให้ครัวเรือนไทยต้องติดกับดักความยากจนเนื่องจากภาระค่าใช้จ่ายยามเจ็บป่วย

การขยายขอบเขตสิทธิประโยชน์ที่สำคัญ ๆ ที่มีมิติเชิง “ความลึก” ได้แก่ การบริการยาต้านไวรัสสำหรับผู้ที่ติดเชื้อ HIV ในปี 2546 และการบริการทดแทนไต (ครอบคลุมการฟอกเลือด ล้างช่องท้อง และผ่าตัดปลูกถ่ายไต) ในปี 2551 ซึ่งทั้งสองโรคเป็นโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง เป็นภาระหนักสำหรับครอบครัว ได้เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยลดจำนวนครัวเรือนไทยที่ต้องยากจนเพราะรายจ่ายด้านสุขภาพได้อย่างรวดเร็ว มากกว่าตอนที่ยังไม่มีการขยายขอบเขตสิทธิประโยชน์ในลักษณะเช่นนี้

ที่มาข้อมูล : สำนักงานวิจัยหลักประกันสุขภาพไทย(สวปก.)

การบริการรักษาพยาบาล โรคเรื้อรัง/โรคค่าใช้จ่ายสูง ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนนหน้า

สิทธิหลักประกันสุขภาพคุ้มครองบริการรักษาพยาบาลโรคเรื้อรังและค่าใช้จ่ายสูงตามการวินิจฉัยทางการแพทย์ และประกาศของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเช่น

บริการทดแทนไตสำหรับผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง

ขั้นตอนการเข้ารับบริการ ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายต้องไปลงทะเบียนใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพที่หน่วยบริการตามสิทธิ เพื่อให้คณะกรรมการฯ ระดับจังหวัดพิจารณาการให้บริการทดแทนไต  ที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยในแต่ละราย โดยเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานของสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย ได้แก่

1.) การล้างไตผ่านทางช่องท้องอย่างต่อเนื่อง

2.) การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม

3.) การผ่าตัดปลูกถ่ายไต

สำหรับการล้างไตผ่านทางช่องท้องอย่างต่อเนื่อง สปสช.ได้จัดบริการส่งน้ำยาล้างไตถึงบ้านโดยไม่มีค่าใช้จ่าย เพื่อเข้าถึงบริการทดแทนไตได้ง่ายขึ้น ลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ได้รับการทดแทนไตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลถึงคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของผู้ป่วย

บริการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์

ผู้ที่ต้องการทราบสถานะการติดเชื้อเอชไอวี  สามารถรับบริการให้คำปรึกษาและตรวจเลือดหาการติดเชื้อเอชไอวี โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายได้ที่หน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพ หากพบว่าติดเชื้อเอชไอวี จะได้รับการประเมินเพื่อเริ่มการรักษาด้วยยาต้านไวรัส  และให้ยาป้องกันโรคติดเชื้อฉวยโอกาสตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย

ผู้ป่วยเอดส์สามารถรับยาต้านไวรัสกับโรงพยาบาลอื่นที่ไม่ใช่หน่วยบริการประจำตามสิทธิ อย่างไรก็ตาม หากรักษาที่หน่วยบริการประจำตามสิทธิ จะได้รับความสะดวกกว่า

ที่มาข้อมูล : หนังสือ 10 เรื่องควรรู้ สิทธิหลักประกันสุขภาพ สปสช. (กันยายน 56)