ข่าวสด - จากรายงานสถานการณ์และปัญหาสุขภาพจากการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชปี 2556 นางแสงโฉม ศิริพานิช นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ ผู้รวบรวมสถานการณ์เปิดเผยว่า ข้อมูลปริมาณการนำเข้าสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปีจากข้อมูลของกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พบว่า ระหว่างปีพ.ศ.2540-2553 มีการนำเข้าสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชมากถึง 120,000 ตัน ที่มีการใช้มากที่สุด ได้แก่ สารกำจัดวัชพืช ร้อยละ 74 สารกำจัดแมลง ร้อยละ 14 สารป้องกันกำจัดโรคพืช ร้อยละ 9 และอื่นๆ ร้อยละ 3 เป็นต้น มูลค่าการนำเข้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ในประเทศมากถึงปีละ 18,000 ล้าน สูงกว่าประเทศที่พัฒนาแล้วถึงเท่าตัว เป็นผลให้ปี 2553-2554 RASFF (Rapid Alert System for Food) ของสหภาพยุโรป (EU) ตรวจพบสารเคมีตกค้างในพืชผักของไทยมากที่สุด ถึง 55 ครั้ง รองลงมา ได้แก่ ตุรกี อินเดีย อียิปต์ เป็นต้น
นางแสงโฉมเปิดเผยต่อว่า จากการเฝ้าระวังโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม โดย สำนักระบาดวิทยา พบว่าระหว่างปี 2546-2555 มีรายงานผู้ป่วยได้รับพิษจากสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช 17,340 ราย มีรายงานเฉลี่ยปีละ 1,734 ราย อัตราป่วย 2.35 ต่อประชากรแสนคน พบมากในกลุ่มวัยทำงาน เกษตรกร และยังพบรายงานการได้รับพิษในเด็กเล็ก ซึ่งอาจมีสาเหตุ เช่น การเก็บในที่ไม่ปลอดภัย พบสูงสุดเดือนพ.ค.-ส.ค.ทุกๆ ปี
นางแสงโฉมกล่าวต่อว่า กรมสุขภาพจิตได้รายงานการพยายามฆ่าตัวตาย พบว่าแต่ละปีคนไทยพยายามฆ่าตัวตาย 23,000-25,000 ราย โดยการใช้สารเคมี ร้อยละ 22 ข้อมูลสำนักระบาดวิทยาพบว่ามีรายงานการใช้สารกำจัดศัตรูพืช โดยใช้ยากำจัดวัชพืชร้อยละ 10 สารเคมีกำจัดแมลง ร้อยละ 8.65 ซึ่งนอกจากพิษเฉียบพลันยังมีผลระยะยาวสัมพันธ์กับโรคมะเร็งด้วย แนวทางควบคุม เกษตรกรและผู้บริโภคต้องมีส่วนร่วมลดปริมาณการใช้ ไปจนถึงพิจารณายกเลิก หรือห้ามนำเข้า จำหน่ายสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีพิษร้ายแรง
ที่มา--ข่าวสด ฉบับวันที่ 13 ก.พ. 2557 (กรอบบ่าย)--
- 48 views