กรมการแพทย์ประชุมทะเบียนมะเร็งระดับอาเซียน สร้างกลยุทธ์สำคัญวางแผนงานป้องกันและควบคุมโรคมะเร็ง พร้อมแนะประชาชนปรับพฤติกรรมเลี่ยงภัยร้ายมะเร็ง
วันนี้ (6 กุมภาพันธ์ 2557) ที่โรงแรม Grand Mercure Bangkok Fortune นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า โรคมะเร็งเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของทุกภูมิภาคทั่วโลก ส่งผลให้ประชากรเสียชีวิตก่อนวัยอันควร และเสียค่าใช้จ่าย ในการรักษาเป็นจำนวนมาก จากสถิติโรคมะเร็งในภูมิภาคอาเซียนพบว่า ในปี พ.ศ. 2551 มีผู้ป่วยใหม่ราว 700,000 ราย และมีผู้เสียชีวิตประมาณ 500,000 ราย ซึ่ง 5 อันดับแรกของโรคมะเร็งที่พบบ่อย คือ มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งตับ มะเร็งลำไส้ และมะเร็งปากมดลูก ประชาคมอาเซียนจึงให้ความสำคัญต่อโรคมะเร็งที่เป็นปัญหาสาธารณสุขสำคัญของภูมิภาค องค์การอนามัยโลกจึงสนับสนุนให้ ทุกประเทศจัดทำแผนการป้องกันและควบคุมโรคมะเร็ง ดังนั้น การทำทะเบียนมะเร็งถือเป็นกลยุทธ์สำคัญ ในแผนงานป้องกันและควบคุมโรคมะเร็ง โดยทะเบียนมะเร็งจะเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลโรคมะเร็งชนิดต่าง ๆ ในแต่ละพื้นที่ตลอดจนอุบัติการณ์การเกิดโรค และการเสียชีวิต ซึ่งข้อมูลดังกล่าวมีความสำคัญในการประเมินปัญหาในแต่ละท้องถิ่นอันจะนำมาสู่การวางนโยบายและยุทธศาสตร์การป้องกันและควบคุมโรคมะเร็งของประเทศ อีกทั้งยังเป็นข้อมูลในการประเมินความสำเร็จของการดำเนินงานตามแผนที่วางไว้
สำหรับประเทศไทย กรมการแพทย์ สนับสนุนให้สถาบันมะเร็งแห่งชาติมีการทำทะเบียนมะเร็งมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2519 ถือเป็นประเทศแรก ๆ ในภูมิภาคอาเซียนที่มีการผลักดันให้มีการทำทะเบียนมะเร็งระดับประเทศ อย่างไรก็ตามยังคงมีความจำเป็นในการพัฒนาคุณภาพของการทำทะเบียนมะเร็งของประเทศไทยและประเทศอื่น ๆ ในประชาคมอาเซียนให้มีการดำเนินการอย่างถูกต้องตามมาตรฐานเป็นที่ยอมรับของนักวิชาการในระดับสากล ที่ผ่านมาสถาบันมะเร็งแห่งชาติได้ช่วยเหลือการจัดตั้งทะเบียนมะเร็งของประเทศอินโดนีเซียและประเทศภูฏาน
นายแพทย์วีรวุฒิ อิ่มสำราญ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวว่า การประชุมวิชาการทะเบียนมะเร็งนานาชาติครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อให้แพทย์ นักวิชาการและผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับโรคมะเร็ง จาก 14 ประเทศได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนทัศนะและผลงานวิจัยด้านโรคมะเร็ง ซึ่งเนื้อหาการประชุมจะครอบคลุมอุบัติการณ์และแนวโน้มของการเกิดมะเร็งชนิดต่าง ๆ ในทวีปเอเชีย บทบาทและความสำคัญของทะเบียนมะเร็งในการประเมินความสำเร็จของแผนการป้องกันและควบคุมโรคมะเร็ง รวมถึงการนำเสนอการทำทะเบียนมะเร็งของประเทศต่าง ๆ อีกทั้งยังเป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการเพื่อร่วมกันหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาโรคมะเร็งในระดับภูมิภาคอันจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาเชิงบูรณาการตลอดจนก่อให้เกิดการพัฒนาแนวทางการป้องกันและควบคุมโรคมะเร็งอย่างยั่งยืนได้ในอนาคต เพื่อให้บรรลุเป้าหมายสำคัญ คือ การลดอัตราการป่วยด้วยโรคมะเร็ง ลดระยะเวลารอคอยลดค่าใช้จ่ายในการรักษา และเพิ่มอัตรารอดชีวิตของผู้ป่วยโรคมะเร็งให้ยาวนานมากขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดี และสามารถใช้ชีวิตอย่าง มีความสุข ทั้งนี้ ประชาชนควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อป้องกันโรคมะเร็งโดยการงดสูบบุหรี่ และงดดื่มสุรา บริโภคผักผลไม้มากขึ้น ออกกำลังกายและควบคุมน้ำหนัก ดูแลสุขภาพไม่ให้มีโรคติดเชื้อเรื้อรัง และตรวจสุขภาพประจำปีเพื่อการคัดกรองมะเร็งระยะแรก#สุขภาพดี เริ่มต้นที่นี่
- 58 views