โครงการเด็กไทยไม่กินหวาน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ติดตามสถานการณ์การบริโภคน้ำตาลของคนไทยในระดับประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็ก โดยดูจากรายการอาหารที่เลือกรับประทานในแต่ละวัน ตั้งแต่ปี 2544-2554 โดยปี 2544 พบว่าคนไทยมีการบริโภคน้ำตาลสูงมากอยู่ที่ 19.9 ช้อนชาต่อวัน หรือเกือบ 80 กรัม ถือว่ามากกว่าเกณฑ์ปริมาณน้ำตาลที่ควรได้รับอยู่ที่ 6 ช้อนชาต่อวัน หรือ 24 กรัมเท่านั้น และล่าสุดในปี 2554 พบว่าคนไทยบริโภคน้ำตาลเพิ่มมากขึ้นขยับขึ้นไปอยู่ที่ 25 ช้อนชาต่อวัน คิดเป็นประมาณ 100 กรัมแล้ว ถือว่าคนไทยบริโภคน้ำตาลเพิ่มขึ้น 2.3 เท่าในช่วงเวลา 10 ปี นับเป็นสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงและมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้นในปีถัดไป
ทพญ.จันทนา อึ้งชูศักดิ์ นักวิจัยเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน กล่าวว่า มาตรการการเก็บภาษีน้ำตาล การเพิ่มภาษีต่างๆ ไม่ใช่เรื่องง่าย จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เนื่องจากเป็นนโยบายที่มีความเกี่ยวโยงกับเศรษฐกิจของประเทศ ส่งผลกระทบต่อบุคคลหลายฝ่าย แต่หากมาตรการเพิ่มภาษีสามารถทำได้จริง การบริโภคน้ำตาลของประชาชนก็จะลดลงและมีส่วนช่วยในการลดภาวะโรคอ้วน ซึ่งสอดคล้องกับรายงานการวิจัยที่พบว่า กว่า 30 ที่ผ่านมา คนไทยบริโภคน้ำตาลเพิ่มเป็น 3 เท่า และจากการเปรียบเทียบกับประเทศในกลุ่มอาเซียน 5 ประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และ สิงคโปร์ ประเทศไทยเป็นผู้บริโภคน้ำตาลสูงสุดเป็นอันดับหนึ่ง นอกจากโรคอ้วนแล้ว น้ำตาลยังเป็นสาเหตุที่สำคัญของการเกิดโรคหัวใจ เช่น หัวใจวายมากขึ้นด้วย ทั้งนี้ หากมีการขึ้นภาษีน้ำตาลก็ต้องนำออกจากบัญชีสินค้าควบคุม และมีการคำนวณอัตราภาษี ซึ่งควรพิจารณาจากปริมาณความหวาน และควรบังคับใช้กับเครื่องดื่มทั้งหมด ที่มีการเติมน้ำตาลไปพร้อมกับการเพิ่มทางเลือกในเครื่องดื่มอื่นๆ ให้แก่ผู้บริโภคด้วย
ทั้งนี้การบริโภคน้ำตาลเกินความต้องการของร่างกายในแต่ละวัน ส่งผลให้เกิดการสะสมในรูปของไขมันที่พอกอยู่ตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย เป็นสาเหตุของโรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงโรคมะเร็งบางชนิด จากงานวิจัยล่าสุดที่นำเสนอในการประชุมสมาคมโรคหัวใจอเมริกัน ประจำปี 2013 พบว่า การบริโภคน้ำตาลเกินความต้องการของร่างกายยังอาจเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตกว่า 180,000 รายต่อปีทั่วโลกอีกด้วย
นักวิจัยจากสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระบุว่า ปัจจุบันคนไทยบริโภคน้ำตาลจากผลิตภัณฑ์อาหาร ขนมและเครื่องดื่มผสมน้ำตาล ถึงวันละ 88 กรัม (22 ช้อนชา) หรือเพิ่มขึ้น 2.3 เท่า ซึ่งมากเกินความต้องการของร่างกายในแต่ละวัน โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชนเป็นกลุ่มที่เสี่ยงต่อโรคร้ายจากการบริโภคน้ำตาลมากที่สุด
- 227 views