ห้องแล็บจุลชีววิทยาฯ ศิริราช เผยตรวจวิเคราะห์เชื้อปีละมากกว่า 3 แสนขวด เหตุรับตรวจตัวอย่างจาก รพ.ทั่วประเทศกว่า 200 แห่ง ระบุเตรียมพัฒนาเป็นแล็บตรวจเชื้อระดับประเทศ โดยร่วมมือไปรษณีย์ไทยกว่า 1,300 สาขา พัฒนาเป็นศูนย์รับส่งเชื้อ ช่วยโรงพยาบาลต่างๆ ที่ไม่สามารถตรวจเชื้อบางรายการได้ โดยไม่ต้องเดินทางมาส่งด้วยตัวเอง 

เวบไซต์ASTVผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า วันนี้ (12 ธ.ค.) เมื่อเวลา 10.30 น. ที่ห้องประชุมสุขุม ภัทราคม อาคารจุลชีววิทยา รพ.ศิริราช ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการเนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปี ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ว่า ภาควิชาจุลชีววิทยามีอายุครบ 50 ปี ถือเป็นโอกาสสำคัญที่แสดงถึงความสำเร็จของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เนื่องจากภาควิชาจุลชีววิทยามีการพัฒนาการเรียนการสอน งานวิจัย และงานบริการต่างๆ จนได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ รวมถึงมีห้องปฏิบัติการ (แล็บ) ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน ได้รับมาตรฐาน ISO 15189 ตามรายการมากที่สุดอีกด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการเรียนการสอนในอนาคตข้างหน้า

รศ.นพ.ภัทรชัย กีรติสิน หัวหน้าภาควิชาจุลชีววิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล กล่าวว่า การจัดกิจกรรมครบรอบ 50 ปีของภาควิชาจุลชีววิทยามีขึ้นระหว่างวันที่ 11-13 ธ.ค. 2556 นอกจากจะมีการประชุมวิชาการแล้วยังมีการจัดกิจกรรมให้ความรู้กับประชาชนที่บริเวณโถงอาคาร 100 ปี สมเด็จพระศรีนครินทร์ด้วย เนื่องจากเมื่อพูดถึงจุลชีววิทยาแล้วคนทั่วไปจะไม่ค่อยเข้าใจว่าคืออะไร ซึ่งความจริงแล้วก็คือเรื่องของเชื้อก่อโรค การให้ความรู้แก่ประชาชนจะช่วยให้ประชาชนไม่ตื่นตระหนกหรือตกใจ เมื่อเกิดโรคระบาดต่างๆ และรู้จักวิธีปฏิบัติตัวอย่างถูกต้อง และรู้วิธีป้องกันตัวเองจากเชื้อก่อโรคต่างๆ ที่พบมากคือ โรคฉี่หนู โรคไข้หวัดนก เป็นต้น
       
รศ.นพ.ภัทรชัย กล่าวอีกว่า ห้องแล็บของภาควิชาถือว่าเป็นห้องแล็บที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย สามารถตรวจตัวอย่างต่างๆ ได้มากกว่า 200 รายการ ทั้งตรวจเลือด ปัสสาวะ และหนอง โดยมีตัวอย่างส่งตรวจมากถึงวันละ 1,000 ขวด เฉลี่ยปีละประมาณ 3 แสนขวด เนื่องจากรับตัวอย่างส่งตรวจจากโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศกว่า 200 แห่งที่ไม่สามารถดำเนินการตรวจเชื้อเองบางรายการได้ด้วย อย่างไรก็ตาม ในปี 2557 ภาควิชาจุลชีววิทยาจะพัฒนาห้องแล็บให้เป็นศูนย์ตรวจระดับประเทศและเป็นระบบยิ่งขึ้น โดยร่วมมือกับบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ที่มีสาขากว่า 1,300 แห่งทั่วประเทศ ให้เป็นศูนย์รับส่งตัวอย่างเชื้อมายัง รพ.ศิริราช โดยที่โรงพยาบาลไม่ต้องงเดินทางมาส่งเชื้อด้วยตัวเอง โดยในระยะแรกจะรับส่งเฉพาะเชื้อที่อุณหภูมิห้องก่อน จากนั้นจึงจะพัฒนาการส่งเชื้อที่จะต้องมีการจำกัดอุณหภูมิต่างๆ ต่อไป
       
"ห้องแล็บของภาควิชาจุลชีววิทยาได้รับมาตรฐาน ISO 15189 ตามรายการมากที่สุดในประเทศไทยคือมากกว่า 100 รายการ สำหรับรายการที่ไม่ได้ ISO ไม่ได้หมายถึงว่าห้องแล็บไม่ได้มาตรฐาน แต่เนื่องจากการจะได้มาตรฐาน ISO นั้นจะต้องมีคู่เปรียบเทียบ ซึ่งบางรายการเราไม่มีคู่เปรียบเทียบจึงยังไม่ได้ ISO ส่วนข้อกังวลเรื่องเจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการติดเชื้อจากการเพาะเชื้อหรือตตรวจเชื้อนั้น ยังไม่เคยเกิดขึ้น เพราะห้องแล็บมีระบบและเทคโนโลยีในการช่วยป้องกัน และมีการทดสอบบุคลากรในเรื่องความปลอดภัยอย่างต่อเนื่องทุกปี" รศ.นพ.ภัทรชัย กล่าว