คมชัดลึก - ดร.ฉัตรภา หัตถโกศล อาจารย์ประจำภาควิชาโภชนวิทยา คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล (มม.) กล่าวถึงเรื่องการเสพติดอาหารว่า ปัจจุบันพบว่าโรคอ้วนลงพุงมีอัตราการเพิ่มขึ้น และเป็นปัญหาเศรษฐกิจและสุขภาพ โดยความอ้วนที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งเกิดจากการเสพติดอาหาร ซึ่งนักวิชาการด้านโภชนาการได้ทำการศึกษาถึงการเสพติดอาหารของคน พบว่าคนที่มีการเสพติดอาหารจะมีสารเคมีในสมองที่เปลี่ยนแปลงเหมือนคนที่เสพติดยาเสพติด โดยความหวานจะทำให้เกิดการเสพติดได้มากที่สุด รองมาคือความเค็มและความมัน เมื่อได้รับอาหารที่ตัวเองเสพติดแล้ว สารโดปามีนจะหลั่งออกมาทำให้เกิดความสุข ทำให้อารมณ์ดี ตื่นตัว กระฉับกระเฉง มีสมาธิทำงานได้ดีขึ้น จึงเกิดเป็นการเสพติด เพราะต้องการที่จะได้รับความสุขและทำงานได้มากขึ้น จึงรับประทานอาหารชนิดนั้นๆ บ่อยและมากเกินไป ทำให้ได้รับพลังงานมากเกินจนทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้น
"พฤติกรรมที่บ่งบอกว่ามีการเสพติดอาหาร คือ 1.เลือกซื้ออาหารชนิดนั้นเป็นประจำสัปดาห์ละมากกว่า 3 ครั้ง 2.กินอาหารชนิดนั้นมากกว่าที่วางแผนว่าจะกิน หรือกินแล้วไม่อยากหยุดกิน 3.มีความอยากกินอาหารชนิดนั้นมากกว่าอาหารชนิดอื่น 4.กินอาหารชนิดนั้นแม้ว่าจะไม่หิวเลยก็ตาม 5.เมื่อไม่ได้กินอาหารชนิดนั้นจะทำให้จิตใจไม่เป็นสุข เกิดความหงุดหงิด อารมณ์เสียหรืออาการทางร่างกาย เช่น ปวดหัว มือสั่น ใจสั่น หน้ามืด 6.ขาดสมาธิเมื่อไม่ได้อาหารชนิดนั้นๆ และ 7.หาข้ออ้างหรือเหตุผลในการกินอาหารชนิดนั้นเสมอ" ดร.ฉัตรภา กล่าว
ดร.ฉัตรภา กล่าวอีกว่า ดังนั้น โครงการเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชนในชุดโครงการ "รวมพลัง ขยับกาย สร้างสังคมไทย ไร้พุง" เครือข่ายคนไทยไร้พุง ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้แนะแนวทางการแก้ไขการเสพติดอาหาร สามารถทำได้โดยวางแผนอาหารในแต่ละวันและพยายามทำให้ได้ตามแผน เมื่อรู้ตัวว่ากำลังเสพติดอาหารชนิดใดอยู่ให้กินแต่น้อยลงและพยายามกินเฉพาะในมื้ออาหารเท่านั้น พยายามเลือกอาหารที่มีประโยชน์ ทำการจดบันทึกพฤติกรรมการบริโภคว่าอาหาร ว่ามีความถี่ในการกินมากน้อยแค่ไหน ถามตัวเองก่อนที่จะ กินอาหารที่เสพติดว่าต้องการจริงๆ หรือไม่ และต้องการปริมาณเท่าใดถึง จะพอ การถามตัวเองก่อนจะช่วยลดปริมาณความอยากอาหารลงได้ และพยายามหลีกเลี่ยงสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการซื้อหาหรือมีอาหารที่เสพติดอยู่ ทั้งนี้ แม้การเสพติดอาหารจะไม่น่ากลัวเหมือนการเสพอย่างอื่น แต่ก็เกิดผลกระทบต่อสุขภาพได้เพราะทำให้เกิดโรคเรื้อรังจากความอ้วนได้หลายโรค
ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก วันที่ 10 ธันวาคม 2556
- 379 views