เดลินิวส์ - วันที่ 25 พฤศจิกายนทุกปีองค์การสหประชาชาติกำหนดให้เป็นวันยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง เพื่อเตือนให้คนทั่วโลกตระหนักว่าความรุนแรงต่อผู้หญิงเป็นปัญหาที่สังคมต้องหาทางแก้ไข จากสถานการณ์ดังกล่าว แผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ สสส.จึงร่วมกับภาคีองค์กรที่ทำงานด้านผู้หญิง จัดเสวนาหัวข้อ "หยุดความรุนแรงในครอบครัว บทเรียนจากหมอนิ่ม" เพื่อให้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อแนวทางการจัดการปัญหาความรุนแรงในครอบครัวในสังคมวงกว้าง
รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยประชากรและสังคม ม.มหิดลกล่าวว่า ประเด็นเรื่องผู้หญิงถูกสามีทำร้ายเป็นอุบัติการณ์สูงสุดที่ทำ ร้ายครอบครัวเป็นสถิติเดียวกันทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย และเกิดขึ้นกับผู้หญิงทุกชนชั้นทุกอาชีพ แม้จะมีการออก พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว แต่ยังมีฐานคติเรื่องครอบครัวอบอุ่นเชื่อว่าสามีซ่อม ได้ แต่ว่ากฎหมายเราและเจ้าหน้าที่ไม่เข้าใจว่าเมื่อเกิดความรุนแรง จะต้องเอาผู้หญิงเป็นตัวตั้ง
"ภาพที่คุณเอ็กซ์เอาดอกไม้ไปขอโทษหมอนิ่ม ถามว่าหมอนิ่มเต็มใจหรือเปล่า มีซักคำไหมที่ รมต.จะถามหมอนิ่มสักคำไหมว่าพร้อมไหมอยากจะแยกอยากจะหย่า คำถามเหล่านี้เป็นคำถามสำคัญในการคุ้มครอง เพราะกฎเกณฑ์สำคัญในการคุ้มครองคือเอาตัวผู้หญิงเป็นศูนย์กลางและต้องไม่ละเมิดซ้ำซาก"
รศ.ดร.กฤตยา กล่าวว่า ประเด็นที่กังวลคือกระบวนการยุติธรรมของประเทศเราไม่เข้าใจปัญหานี้ ในสหรัฐเมื่อเกิดคดีเมียฆ่าผัวหรือผัวฆ่าเมียต้องเอาประวัติศาสตร์ของครอบครัวมารวมด้วย มีคำให้การของผู้หญิงหลายคนที่บอกว่าอยากจะฆ่าสามีกรณีที่มีความรุนแรง และอยากฆ่าตัวตายเองแต่ทำไม่ได้เพราะมีกับดักเรื่องลูกไม่มีทางออก ต้องมีการศึกษา ที่ชี้ชัดตั้งแต่สาเหตุความรุนแรง การป้องกัน และการเยียวยา รวมทั้งกระบวนการยุติธรรม
นางทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชน บ้านกาญจนภิเษก กล่าวว่าในสังคมมองว่าครอบครัวที่งดงามต้องมีองค์ประกอบเรื่องพ่อแม่ลูก เรื่องเหล่านี้เป็นความรู้ที่ถูกใส่เข้ามาโดยที่ในความเป็นจริงนั้นไม่ถูกต้อง ความเชื่อเหล่านี้เป็นสิ่งพันธการชีวิตเขาเอาไว้ เมื่อเกิดเหตุรุนแรงขึ้นมา ผู้หญิงจะเดินออกมาต้องมาเจอกับดักว่าลูกจะอยู่อย่างไร
"เท่าที่คุยกับเด็กส่วนใหญ่ไม่ได้สนใจว่าพ่อแม่จะมีเซ็กซ์กันหรือไม่แต่อยากรู้ว่าผู้หญิงผู้ชายคู่นี้จะเป็นพ่อแม่เขาได้หรือไม่ หากคนสองคนสามารถทำหน้าที่พ่อแม่ได้ การหย่าร้างก็จะไม่ทำให้เด็กมีปัญหาและยิ่งคนไกล่เกลี่ยยังเชื่อว่าครอบครัวจะต้องมีพ่อแม่ลูก แม้จะเป็น รมต.หรือเจ้าหน้าที่ พม.ก็ดี แต่ไม่รู้ว่าเขาต้องผ่านอะไรมาบ้างเหมือนเขากำลังหยิบยื่นความตายให้กับผู้หญิง" ผู้มีประสบการณ์ทำงานกับเด็กถ่ายทอดผู้อำนวยการศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชนบ้านกาญจนภิเษก กล่าวว่า ไม่ใช่ครั้งแรกที่ประเทศไทยเกิดเหตุการณ์เช่นนี้กรณีของหมอผัสพรกับ นพ.วิสุทธิ์ จริง ๆ เขาอยู่กันไม่ได้ ตอนนั้นศาลก็พยายาม และศาลก็อยู่ในกรอบคิดของคนทั่วไปที่ว่าผัวเมียต้องอยู่ด้วยกัน เมื่อกลไลของรัฐไม่ได้ให้ความเป็นธรรม การใช้ศาลเตี้ยจึงเป็นสิ่งที่เขาเลือก คำถามต่อมาสังคมจะจมอยู่กับกรณีนี้อีกกี่ครั้ง คำถามเหล่านี้ที่จะต้องตอบว่าลูก ๆ ของความรุนแรงเหล่านี้จะอยู่อย่างไรจะต้องเยียวยาเด็กให้ผ่านไปได้ ทั้งนี้เราต้องยอมรับความเป็นผัวเมียสิ้นสุดได้แต่ความเป็นพ่อแม่ต้องเป็นนิรันดร์
"ตามที่เราตามข่าวตอนที่คุณเอ็กซ์ไม่ได้รับการประกันตัวครั้งแรกเขาหันไปพูดกับแม่ของเขาว่าแล้วตอนเป็นเด็ก ใครที่ปล่อยให้ผมถูกทำร้ายโดยที่ไม่ช่วยผม เรามาถอดรหัสกันดูวันคืนที่เขาเป็นเด็กคืออะไร ขนาดเด็กที่บ้านกาญจนายังพูดได้ว่าวันคืนที่ผ่านมาของคุณเอ็กซ์คือความรุนแรง แน่นอนแสดงให้เห็นว่าความรุนแรงของผู้ชายคนหนึ่งคือระเบิดเวลาที่ติดตัวเขาจนกระทั่งเขามาเจอกับหมอนิ่ม" ทิชา กล่าวและว่าคนในสังคมมองเรื่องนี้หลากหลายไปอีกทั้งเรื่องอาชญากรรม เงินทอง คบชู้ แต่ไม่เคยพูดเรื่องความรุนแรงในครอบครัวเลยสักครั้งแม้กระทั่งตำรวจเอง หากเรื่องครอบครัวไม่ถูกนำมาพูดเรื่องนี้ก็เป็นแค่คดีอาชญากรรมธรรมดา เรื่องนี้ต้องอาศัยผู้เข้าใจเฉพาะ โดยเฉพาะในกระบวนการยุติธรรม การที่จะไกล่เกลี่ยครอบครัวใครต้องย้อนไปดูประวัติของครอบครัวนั้นได้ พบว่าเด็กที่บ้านกาญจนาเคยเจอความรุนแรงมาก่อนแล้วมันง่ายมากเมื่อเกิดปัญหาขึ้นมาจะใช้ความรุนแรงต่อ
ด้านนางนัยยา สุภาพึ่ง ผู้อำนวยการมูลนิธิธีรนาถ กาญจนอักษร กล่าวว่าขณะนี้ได้มีการนำความรู้ อาการของผู้หญิงที่ถูกทำร้าย ที่เรียกว่า Better women syndrome นำไปพิจารณาศาลอาญาชั้นต้นที่ศาลธนบุรี ผู้หญิงที่สู้กลับทันทีส่วนใหญ่ผู้พิพากษาจะเข้าใจดีว่าผู้หญิงจะสู้กลับเพื่อป้องกันตัวเอง จึงมีการลดโทษ แต่ว่าในกรณีที่เกิดขึ้นกับหมอนิ่ม คือความรู้สึกแห่งความเป็นแม่เป็นเมีย เมื่อใคร่ครวญดูแล้วแม่หมอนิ่มเป็นผู้หญิงที่ถูกทำร้ายกว่าหลายร้อยเท่า ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำในกระบวนการยุติธรรมต้องเรียนรู้ว่าอาการของผู้หญิงที่ถูกทำร้ายเป็นอย่างไร เป็นอาการที่ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ และอยู่ที่การตัดสินใจอยู่ในกรอบวัฒนธรรมประเพณีจึงทำให้เขาสู้กลับ อีกทั้งผู้หญิงที่อยู่ในภาวะเช่นนี้ไม่มีวุฒิภาวะเหมือนกับคนทั่วไปที่จะมั่นคงเข้มแข็งจึงต้องตัดสินใจฆ่า
พ.ต.ท.หญิง ปวีณา เอกฉัตร รองผู้กำกับฝ่ายสอบสวน สน.ราษฎร์ บูรณะ กล่าวว่า พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวพ.ศ. 2550 เป็นความผิดอันยอมความได้ หากประสงค์ให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีก็มีการสอบปากคำรวบรวมพยานหลักฐานต่าง ๆ แล้วเรียกคู่กรณีเขามาเพื่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแล้วนำไปสู่การบันทึกข้อตกลง โดยจะถามความต้องการเขาก่อน หากเขาไม่ต้องการดำเนินคดีต้องการปรับเปลี่ยนจะแนะนำไปที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางโดยที่ผู้เสียหายไปยื่นคำร้องที่ศาลได้โดยที่ไม่ต้องดำเนินคดีก็ได้
บทเรียนจากหมอนิ่มสังคมควรได้อะไรมากกว่าการวิพากษ์วิจารณ์.
ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 26 พฤศจิกายน 2556
- 54 views