ไทยโพสต์ - สปสช.เตรียมส่งหนังสือถึง สตง.ยืนยันคงหลักการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้น ม.41 ผู้ได้รับความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขโดยไม่ต้องพิสูจน์ถูกผิดเหมือนเดิม ชี้หากไล่เบี้ยหาคนรับผิดชอบจะสร้างความขัดแย้งระหว่างหมอกับผู้ป่วยมากยิ่งขึ้น

นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เปิดเผยว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาบอร์ด สปสช.ได้มีการพิจารณามาตรา 42 ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ ว่าด้วยเรื่องการดำเนินการหาผู้กระทำผิดและไล่เบี้ยเอากับผู้กระทำผิดในกรณีที่จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข ตามมาตรา 41 ไปแล้ว โดยนำ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาใช้ตามควรแก่กรณี ซึ่งในที่ประชุมได้มีการอภิปรายเรื่องนี้อย่างกว้างขวาง และเห็นว่าที่ผ่านมา สปสช.ไม่เคยดำเนินการตรวจสอบถูกผิดมาก่อน เพราะไม่ใช่หน้าที่ การตรวจสอบถูกผิดเป็นหน้าที่ของศาล กระทรวงสาธารณสุข หน่วยงานที่มีหน้าที่ คณะกรรมการจัดตั้ง หรือสภาวิชาชีพ เป็นต้น ดังนั้นให้คงหลักการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นให้กับผู้ป่วยที่ได้รับความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขโดยไม่ต้องมีการพิสูจน์ถูกผิดเหมือนเดิม โดยหลังจากนี้จะมีการสรุปเข้าที่ประชุมบอร์ด เพื่อรับรองมติในการประชุมครั้งหน้า ก่อนจะส่งเป็นหนังสือตอบกลับไปยังสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน

นพ.วินัยกล่าวต่อว่า ก่อนหน้านี้ สตง.เคยทำเรื่องให้ สปสช.พิจารณาเรื่องการไล่เบี้ยเอากับผู้กระทำความผิดไปแล้วเมื่อปี 2555 แต่เนื่องจากขณะนั้นอยู่ระหว่างการผลักดันร่าง พ.ร.บ.ชดเชยความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข ซึ่งสาระสำคัญตอนหนึ่งใน พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว ให้ตัดมาตรา 41, 42 ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติออก ดังนั้นกรณีมาตรา 42 ที่ สตง.เสนอให้พิจารณาใช้นั้นจึงตกไป แต่ปัจจุบันเนื่องจากร่าง พ.ร.บ.ชดเชยความเสียหายฯ ไม่สามารถดำเนินการต่อได้ ทาง สตง.จึงได้ส่งเรื่องให้กับ สปสช.พิจารณามาตรา 42 อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งได้ข้อสรุปตามที่กล่าวไปแล้ว

“เขาเสนอมาเมื่อปีที่แล้ว เราก็ให้เหตุผลว่าเนื่องจากเมื่อปี 55 มีการดันร่าง พ.ร.บ.ชดเชยความเสียหายฯ ซึ่งในนั้นบอกว่าถ้ามีกฎหมายชดเชยแล้วก็ให้ตัดมาตรา 41, 42 ทิ้งไป เราเลยชี้แจงว่าที่เราไม่ได้ดำเนินการใดๆ เพราะว่าตอนนั้นกำลังพิจารณา พ.ร.บ.นี้อยู่ ถ้า พ.ร.บ.นี้มีผลบังคับใช้ มาตรานี้ก็จะยกเลิกไปโดยปริยาย พอมาคราวนี้ สตง.บอกว่า พ.ร.บ.นี้ยกเลิกแล้ว แช่แข็งแล้ว ไม่มี พ.ร.บ.ชดเชยแล้ว สปสช.ก็ต้องมีหน้าที่ในการพิจารณามาตรา 42” เลขาธิการ สปสช.กล่าว และว่า ทั้งนี้เกรงว่าหากมีการไล่เบี้ยหาผู้กระทำความผิดตามมาตรา 42 แล้วนั้น จะสร้างความขัดแย้งระหว่างแพทย์กับผู้ป่วยมากขึ้น.

ที่มา: http://www.thaipost.net