ประเด็นเรื่องการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติปีงบประมาณ 2557 กำลังเป็นชนวนความขัดแย้งรอบใหม่ในแวดวงหมอ เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) แก้ระเบียบการจัดสรรงบประมาณใหม่
ทั้งนี้ ข้อเสนอของ สธ. ที่ให้เปลี่ยนรายละเอียดการจัดสรรงบ เช่น งบผู้ป่วยนอก เดิม สปสช.จ่ายให้โรงพยาบาล 100% เป็นจ่าย 80% และจ่ายตามผลการให้บริการ 20% โดยให้เขตสุขภาพของ สธ. เป็นผู้กำหนดเป้าหมายการให้บริการ
หรืองบผู้ป่วยใน เดิมใช้ระบบเหมาจ่ายตามกลุ่มโรค มาเป็นระบบราคาต่อหน่วย งบประมาณส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค เดิม สปสช.ดูแล เปลี่ยนให้สธ.บริหารจัดการ งบลงทุนเดิมให้เครือข่ายสถานบริการ เช่น โรงพยาบาลอำเภอ สำนักงานสาธารณสุขอำเภอและสถานีอนามัย 80% และ สธ. 20% ปรับมาเป็น สธ. 80% และลงเครือข่ายบริการ 20% แทน
ย้อนกลับไปยุคกำเนิดบัตรทอง 30 บาท ขณะนั้นมีแนวคิดการปฏิรูประบบสาธารณสุข โดยเริ่มที่ระบบงบประมาณจากเดิมจะพิจารณาจากโครงการที่โรงพยาบาลแต่ละแห่งเสนอขึ้นมา เปลี่ยนมาเป็นการจัดสรรงบแบบเหมาจ่ายรายหัว เพื่อให้การจ่ายเงินสอดคล้องกับภารกิจที่โรงพยาบาลต้องดูแลประชาชนในพื้นที่ ด้วยเหตุนี้ ข้อเสนอของ สธ.ในการจัดสรรงบปี 2557 ดังกล่าว ทำให้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า สธ.กำลังดึงเงินกลับไปบริหารจัดการ ทำลายหลักการจ่ายงบแบบเหมาจ่ายรายหัว ถือเป็นการย้อนยุคถอยหลังเข้าคลองไปสู่ยุคก่อนโครงการ 30 บาท
ขณะที่ฝั่งผู้บริหาร สธ. ทั้ง นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข และนพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวง ยืนยันว่าไม่คิดยึดอำนาจหรือนำเงินมาบริหารเองแต่อย่างใด
ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 7 ตุลาคม 2556
- 3 views