รมว.สธ.เผยไทยขาดแคลนอวัยวะเพื่อใช้ผ่าตัดปลูกถ่ายรักษา ขณะนี้มีผู้ป่วยที่มีปัญหาการทำงานอวัยวะอยู่ในขั้นวายแล้ว รอปลูกถ่ายทดแทนกว่า 3,500 ราย ในขณะที่มีผู้บริจาคอวัยวะเพียง 136 ราย เท่านั้น ต่ำกว่าต่างประเทศถึง 15 เท่าตัว จับมือกับ 8 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรณรงค์ให้คนไทยบริจาคอวัยวะเพิ่มขึ้นให้ได้ 1,000 รายต่อปี พร้อมพัฒนาระบบการบริจาคและการปลูกถ่ายอวัยวะ ตั้งเป้าปี 2557 จะพัฒนาศักยภาพโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไป ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข 38 แห่งทั่วประเทศ เป็นศูนย์รองรับการบริจาคอวัยวะจากผู้ป่วยที่สมองตายแล้ว
วันนี้(19 กันยายน 2556)ที่โรงแรมเรเนซองส์ กรุงเทพมหานคร นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดประชุม “การปรับปรุงแนวทางการดูแลผู้ป่วยปลูกถ่ายไตในประเทศไทย”และปาฐกถาพิเศษเรื่อง“นโยบายและบทบาทของกระทรวงสาธารณสุข ด้านการสนับสนุนการบริจาคและปลูกถ่ายอวัยวะ” แก่แพทย์-พยาบาล ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนจากศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กรมบัญชีกลาง และสำนักงานประกันสังคม ร่วมประชุมกว่า 200 คน
ปัจจุบันการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะ เป็นที่ยอมรับของวงการแพทย์ว่าเป็นการรักษาที่ได้มาตรฐาน ในการช่วยเหลือผู้ป่วยที่อวัยวะสำคัญล้มเหลวระยะสุดท้ายให้กลับมามีชีวิตใหม่ ทำให้ผู้ป่วยมีชีวิตที่ใกล้เคียงกับปกติมากที่สุด และเป็นการรักษาที่มีค่าใช้จ่ายที่มีประสิทธิภาพและคุ้มค่ามากที่สุด ในส่วนของประเทศไทย ต้องยอมรับว่าการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะทำได้น้อยมาก และขาดแคลนอวัยวะบริจาคอย่างมาก เนื่องจากคนไทยบริจาคอวัยวะน้อยมาก ในขณะที่ต่างประเทศเช่นในยุโรป มีผู้บริจาคอวัยวะ 20-30 ต่อประชากรล้านคน จากข้อมูลศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทยปี พ.ศ. 2555 มีผู้ป่วยสมองตายและบริจาคอวัยวะ 136 ราย ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 113 รายในปี พ.ศ. 2554 และ 87 รายในปี พ.ศ. 2553 ซึ่งสัดส่วนการบริจาคของไทยต่ำกว่าต่างประเทศราว 15 เท่าตัว เมื่อคิดจากจำนวนประชากรของประเทศไทย ควรจะมีการบริจาคอวัยวะอยู่ที่ประมาณ 1,000 รายต่อปี ในขณะนี้มีผู้ป่วยที่รอรับการปลูกถ่ายอวัยวะ เช่น ไต, ตับ, ตับอ่อน, หัวใจ มากถึง3,516 ราย
ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ในปีนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกับ สมาคมปลูกถ่ายอวัยวะแห่งประเทศไทย ศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มูลนิธิโรคไตแห่งประเทศไทย แพทยสภา สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย กรมบัญชีกลาง สำนักงานประกันสังคม พัฒนาระบบการรับบริจาคอวัยวะและการให้บริการปลูกถ่ายอวัยวะแก่ผู้ป่วยทั่วประเทศทุกกองทุนสุขภาพ และระบบการจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลในการปลูกถ่ายอวัยวะของทั้ง 3 กองทุนประกันสุขภาพ เนื่องจากผู้ที่เปลี่ยนอวัยวะแล้วจะต้องกินยากดภูมิต้านทานไปตลอดชีวิต โดยกระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพ ในปี 2557 จะพัฒนาศักยภาพโรงพยาบาลขนาดใหญ่ในสังกัดคือโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไปที่มีความพร้อมทั้งบุคลากร เครื่องมือแพทย์ต่างๆ จำนวน 38 แห่ง เพื่อเป็นศูนย์รับบริจาคอวัยวะจากผู้ป่วยที่สมองตายแล้ว และมีระบบเก็บอวัยวะที่รับบริจาค การขนย้าย และการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะ และรณรงค์ให้ประชาชนมีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการบริจาคอวัยวะภายหลังการเสียชีวิต ตั้งเป้าจะรณรงค์ให้มีผู้บริจาคให้ได้ปีละ 1,000 ราย
ด้านรองศาสตราจารย์นายแพทย์ เกรียงศักดิ์ วารีแสงทิพย์ นายกสมาคมปลูกถ่ายอวัยวะแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การจัดประชุมครั้งนี้จัดขึ้นในวันที่ 19-20 กันยายน พ.ศ. 2556 เป็นการประชุมเชิงปฏิบัติการมีวัตถุประสงค์เพื่อ วางแนวทางการดูแลผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะให้ได้มาตรฐาน เพื่อให้อวัยวะที่ได้รับการเปลี่ยน ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังได้มีการนำความรู้ทางวิชาการในระดับนานาชาติมาปรับปรุงให้เหมาะสมสำหรับการใช้ในประเทศไทยอย่างเป็นระบบ และศึกษาวิจัยเพื่อสร้างสมดุลระหว่างประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรและการดูแลผู้ป่วยอย่างมีคุณภาพ
สำหรับการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะนั้น แพทย์ต้องรีบนำอวัยวะที่ต้องการ ออกจากร่างกายให้เร็วที่สุด เพื่อป้องกันอวัยวะขาดเลือดหรือขาดออกซิเจน ซึ่งจะมีผลให้เส้นเลือดในอวัยวะตีบตัน ดังนั้น ทันทีที่นำอวัยวะออกจากร่างกายผู้บริจาคแล้ว จำเป็นต้องบริบาลโดยการล้างหลอดเลือดด้วยน้ำยาพิเศษที่เย็นจัดเพื่อเป็นการถนอมเนื้ออวัยวะ และล้างขยายหลอดเลือดไว้ เช่นกรณีบริจาคไต ปัจจุบันสามารถบริบาลและเก็บไตไว้ได้นานถึง 72 ชั่วโมง และใช้ได้ผลดี และผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะ ส่วนใหญ่มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถดำรงชีวิตและทำงานได้เหมือนคนปกติ
- 74 views