การเจรจาเอฟทีเอ ไทย-อียู นั้น ข้อวิตกกังวลที่หลายฝ่ายเป็นห่วงอย่างยิ่งคือ จะทำให้คนไทยต้องใช้ยาแพงขึ้น กระทรวงสาธารณสุขเอง ก็ได้แสดงความกังวลต่อเรื่องนี้ และได้ทำหนังสือถึงกระทรวงพาณิชย์ แสดงความห่วงใยอย่างยิ่งต่อประเด็นข้อเรียกร้องการเปิดการเจรจาการค้าเสรีกับสหภาพยุโรป โดยระบุว่า “จะส่งผลกระทบโดยตรงอย่างรุนแรงต่อการบริหารจัดการยาและเวชภัณฑ์ภาครัฐ อันเกี่ยวพันโดยตรงถึงชีวิตและสุขภาพของประชาชน”
ทั้งนี้กระทรวงสาธารณสุขได้ชี้ให้ เห็นถึงปัญหาโดยกรณี พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ. 2535 ที่มีการแก้ไขขยายอายุการคุ้มครองสิทธิบัตรจาก 15 ปี เป็น 20 ปีและการเพิ่มความคุ้มครองสิทธิบัตรยา ส่งผลให้เกิดความพลิกผันของมูลค่าการใช้จ่ายยาในประเทศ ระหว่างยานำเข้าที่มีสิทธิบัตรกับยาผลิตในประเทศ จากเดิมที่มูลค่าการใช้ยานำเข้าอยู่ที่ 34 เปอร์เซ็นต์ และมูลค่าการใช้ยาผลิตในประเทศอยู่ที่ 66 เปอร์เซ็นต์ ของมูลค่าการใช้ยาทั้งประเทศ แต่ปัจจุบันมูลค่าการใช้ยานำเข้าอยู่ที่ 77 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่มูลค่าการใช้ยาที่ผลิตในประเทศเหลือเพียงแค่ 23 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น จากมูลค่ายาของทั้งประเทศอยู่ที่ 1.4 แสนล้านบาท (ข้อมูลปี พ.ศ. 2554) ทั้งนี้เนื่องมาจากการนำเข้ายามีสิทธิบัตรเพิ่มมากขึ้น ส่งผลต่องบประมาณภาครัฐ ความยั่งยืนในการบริหารจัดการยาและเวชภัณฑ์ นอก จากนี้ยังส่งผลกระทบต่อการเติบโตและการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมยาภายในประเทศอย่างมาก เกิดการชะลอการผลิตยาสามัญใหม่ๆ ทำให้ไม่สามารถแข่งขันได้
ที่ผ่านมา นายวิทยา บุรณศิริ เคยให้ข้อมูลในสมัยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2555 เกี่ยวกับค่าใช้จ่ายด้านยาของไทยว่า ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ค่าใช้จ่ายด้านยาของประเทศไทยมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากร้อยละ 32 ของรายจ่ายด้านสุขภาพทั้งหมดในปี 2542 เพิ่มเป็นร้อยละ 46 ในปี 2551 คิดเป็นมูลค่าการขายปลีกสูงถึงประมาณ 2.7 แสนล้านบาท หรือมูลค่าการขายส่ง 1.5 แสนล้านบาท โดย 2 ใน 3 เป็นยานำเข้าจากต่างประเทศ เมื่อวิเคราะห์ข้อมูลในกลุ่มสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ เป็นผู้ใช้บริการรายใหญ่ พบว่าร้อยละ 65 ของมูลค่าการใช้ยาทั้งหมดเป็นยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ กลุ่มยาที่มีมูลค่าการใช้สูง อาทิ ยารักษาแผลในกระเพาะอาหาร ยาบรรเทาอาการปวดลดการอักเสบ ยาลดไขมันในเลือด และยาลดความดันโลหิต ร้อยละ 65-91 เป็นยานอกบัญชียาหลักฯ ที่มีผู้ผลิตรายเดียวหรือเป็นยาต้นแบบที่มีราคาแพง
- 43 views