เมื่อวันที่ 10 ก.ค.ที่โรงแรมดิเอมเมอรัลด์ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข กล่าวภายหลังเปิดการประชุมวิชาการวัคซีนแห่งชาติ ครั้งที่ 5 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 10-12 ก.ค. 56 ว่า เรื่องวัคซีนในประเทศไทยขณะนี้ถือว่ามีความเป็นรูปธรรมแล้ว เพราะมีทั้งสถาบันวัคซีนแห่งชาติ และคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ แต่สิ่งที่จะต้องปรับคือกรอบความคิดระหว่างนักวิชาการกับผู้ปฏิบัติเนื่องจากนักวิชาการมองว่าประเทศไทยควรผลิตวัคซีนได้ทุกชนิด แต่ในเชิงบริหารคงไม่สามารถผลิตได้ทั้งหมด เนื่องจากต้องคำนึงถึงความจำเป็นของวัคซีนแต่ละชนิด เรื่องของความมั่นคง และเรื่องความเป็นไปได้ของธุรกิจประเทศด้วย ซึ่งวัคซีนบางชนิดอาจผลิตได้ตั้งแต่ต้นน้ำ แต่บางชนิดอาจต้องผลิตแบบปลายน้ำ
"กรณีโรงงานวัคซีนไข้หวัดใหญ่ขององค์การเภสัชกรรม ก็เป็นตัวอย่างของความไม่พร้อมในการผลิตวัคซีน ทุกวันนี้โรงงานก็ยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ ยังคงต้องหาข้อสรุปอยู่ ที่สำคัญวัคซีนบางชนิดเมื่อผลิตเองจะมีต้นทุนที่สูงกว่าการนำเข้าวัคซีน ก็ต้องพิจารณาถึงความเป็นไปได้ตรงนี้ด้วย"นพ.ประดิษฐกล่าว "นพ.ประดิษฐ ระบุและว่า ในเรื่องวัคซีนต้องผลักดันให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนมากขึ้นด้วย ไม่ใช่ต่างคนต่างผลิต โดยรัฐบาลจะพยายามสนับสนุนในเรื่องของการวิจัยและพัฒนา (Research and Development : R&D) เพราะเอกชนอาจจะไม่พร้อมในเรื่องนี้ เนื่องจากต้องใช้ทรัพยากรมาก ต้องทำให้เอกชนมาต่อยอดนำงานวิจัยที่เป็นประโยชน์ไปใช้ในเชิงปฏิบัติ ซึ่งที่ผ่านมางานวิจัยเมื่อทำเสร็จแล้วก็เพียงแค่ตีพิมพ์เป็นงานวิชาการหรือไม่ก็เก็บไว้บนหิ้ง ไม่ได้นำออกมาใช้ประโยชน์โดยนายกรัฐมนตรีให้นโยบายชัดเจนแล้วว่า งานวิจัยเรื่องวัคซีนหรือเรื่องอะไรก็ตามเมื่อทำแล้วมีผลชัดเจนต้องนำไปต่อยอด โดยภาครัฐและเอกชนอาจจะต้องตกลงผลประโยชน์กัน ทั้งนี้ การสนับสนุนให้เอกชนเข้ามาต่อยอดไม่จำเป็นต้องห่วงเรื่องความมั่นคง เพราะโรงงานก็อยู่ในไทย ไม่สามารถยกโรงงานกลับไปได้
นพ.ประดิษฐ กล่าวด้วยว่า การทำงานเรื่องวัคซีนต้องทำในเชิงรุกและเชิงรับ โดยเชิงรุกต้องดูว่าเมื่อผลิตวัคซีนแล้ว เอกชนมีความสามารถในการแข่งขันหรือไม่ เพราะทุกวันนี้เด็กไทยเกิดน้อยลงทุกปี หากผลิตวัคซีนปีละล้านโดสจะนำไปขายให้ใคร ก็ต้องมองตลาดในภูมิภาคที่มีอยู่ด้วย ส่วนเชิงรับก็ต้องทำให้ภูมิภาคมีความร่วมมือกัน เช่น หากจะผลิตวัคซีนแบบปลายน้ำ ก็ควรที่จะให้ภูมิภาครวมกันซื้อเป็น 100-200 ล้านโดส ก็จะทำให้ต้นทุนถูกลง รวมถึงต้องปรับกระบวนการฉีดวัคซีนใหม่ด้วย เนื่องจากการเปิดเออีซี โรคระบาดที่ป้องกันดีแล้วอาจกลับมาระบาดอีก เช่น คอตีบ ไอกรน ซึ่งอาจจะต้องฉีดให้ผู้ใหญ่ด้วยรวมถึงการฉีดวัคซีนที่ไม่ใช่วัคซีนพื้นฐานที่ฉีดตอนเด็ก แต่เป็นวัคซีนใหม่ๆ เช่นไข้หวัดใหญ่ HPV จำเป็นต้องฉีดหรือไม่ ถ้าฉีดจะครอบคลุมและคุ้มค่าหรือไม่อย่างไร เพราะอย่างวัคซีนไข้หวัดใหญ่มีที่กลุ่มเป้าหมาย 7 ล้านคน แต่ฉีดได้อยู่เพียง 3 ล้านคน หมายความว่าอีก 4 ล้านคนเป็นการเสียสิทธิหรือไม่ ถ้าไม่มีการปรับตรงนี้ก็จะกลายเป็นการแย่งวัคซีน--จบ--
- 1 view