แผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ สมาคมเพศวิถีศึกษา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดงานเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เรื่อง การสร้างความเข้มแข็งงานขับเคลื่อนด้านความเป็นธรรมทางเพศ : ประสบการณ์จากเพื่อนบ้านอาเซียน โดยมีตัวแทนนักสิทธิสตรี จากประเทศเพื่อนบ้าน ร่วมนำเสนอความเห็นอย่างหลากหลาย
โดย น.ส.นินุก วิดยานโตโร นักจิตวิทยา และนักสิทธิสตรี จากประเทศอินโดนีเซีย กล่าวถึงประเด็นเรื่อง "การทำแท้ง" ว่า จากประสบการณ์ที่ได้พบเห็นผู้หญิงและเด็กวัยรุ่นถูกปฏิเสธไม่ให้ได้รับบริการทำแท้ง เพราะคนส่วนใหญ่มักจะมองประเด็นทางศีลธรรมแต่ไม่มองในเรื่องของสิทธิการเข้ารับบริการทางสุขภาพที่มีมาตรฐาน โดยปี 2543 ตนได้เริ่มทำการศึกษาจากประสบการณ์ของเด็กวัยรุ่นหญิงที่ต้องยุติการตั้งครรภ์และทัศนคติของผู้ให้บริการ และได้เดินหน้าเพื่อแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการทำแท้ง จนกระทั่งปี 2552 ประเทศอินโดนีเซียได้ผ่านกฎหมายที่เอื้อต่อการทำแท้งที่ปลอดภัยและขณะนี้ได้ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข จัดทำร่างระเบียบเพื่อรองรับการปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าว
"คงไม่มีใครอยากตั้งครรภ์ทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ แต่เมื่อหญิงเกิดตั้งครรภ์โดยไม่พึงประสงค์ และอาจมีแผนการอื่นในชีวิต ผู้หญิงก็กลับไม่มีสิทธิเลือก ขณะเดียวกันผู้ชายกลับปัดความรับผิดชอบ ซึ่งสุดท้ายสิทธิในการตัดสินใจยังเป็นของผู้ชายอยู่ ทำให้ในอินโดนีเซียมีอัตราการตายของแม่ในการคลอดสูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยพบว่า 15% ของแม่ที่คลอดลูกเสียชีวิต รวมถึงการทำแท้ง ทุก ๆ ชั่วโมงจะมีหญิง 2 คน เสียชีวิต" นักจิตวิทยาและนักสิทธิสตรี กล่าวและว่า การยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์ในปัจจุบันองค์การอนามัยโลก (WHO) ให้การยอมรับมีการนำขึ้นเว็บไซต์ WHO อย่างชัดเจน เพื่อเป็นทางเลือกใหม่ที่ปลอดภัย ส่วนในอินโดนีเซียหลังจากที่รัฐสภาผ่านกฎหมาย ทำให้ผู้หญิงมีสิทธิที่จะเลือกว่าจะตั้งครรภ์ต่อไปหรือจะยุติตั้งครรภ์ได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องไปพบแพทย์
ขณะที่ นางทัศนัย ขันยาภรณ์ ที่ปรึกษาโครงการประจำองค์กรแพธ ประเทศ ไทย กล่าวว่า เมื่อสังคมไทยไม่ยอมพูดเรื่องทำแท้ง สิ่งที่ตามมา คือ การไม่เรียนรู้เทคโนโลยีการยุติการตั้งครรภ์ที่ทันสมัย แม้แต่การขูดมดลูกที่องค์การอนามัยขอให้ยกเลิกนานแล้วแต่ ก็ยังพบว่าบ้านเรายังใช้วิธีนี้อยู่ ซึ่งความจริงแล้ว วิธีการยุติการตั้งครรภ์มี 2 วิธีคือ การใช้ยา และการใช้เครื่องดูด ซึ่งเป็นการยุติการตั้งครรภ์ที่สามารถทำได้อย่างปลอดภัยมากขึ้น ทั้งนี้ กฎหมายอนุญาตให้ยุติการตั้งครรภ์ได้ แต่ในทางปฏิบัติน้อยมาก มีผู้หญิงที่ถูกข่มขืนหลายราย เมื่อได้รับการอนุญาตให้ยุติการตั้งครรภ์ได้ เมื่อให้กำเนิดบุตรไปแล้ว กรณีลักษณะนี้ส่งผลเสียระยะยาวต่อสภาพจิตใจของผู้หญิงและการเลี้ยงดูลูกเป็นอย่างมาก
"การขับเคลื่อนขององค์กรสตรีในประเทศไทย พยายามผลักดันการให้บริการปรึกษาทางเลือกสำหรับผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม ทางสายด่วนศูนย์ประชาบดี 1300 ซึ่งเมื่อรับเรื่องแล้วในกรณีที่จำเป็นต้องดำเนินการต่อเนื่องจะเป็นผู้ประสานส่งต่อไปยังโรงพยาบาลในเครือข่ายทั่วประเทศ ส่วนการยุติการตั้งครรภ์ก็จะเป็นไปตามหลักเกณฑ์ ประมวลกฎหมายอาญา และข้อบังคับแพทยสภา 6 ข้อ คือ 1. ผู้หญิงที่มีปัญหาทางสุขภาพกาย 2. ผู้หญิงที่มีปัญหาทางสุขภาพใจ 3. กรณีตัวอ่อนในครรภ์มีความผิดปกติ 4. ผู้หญิงที่ถูกข่มขืน 5. ผู้หญิงที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ 6. ผู้หญิงที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี" นางทัศนัย กล่าว
--เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 23 มิ.ย. 2556 (กรอบบ่าย)--
- 190 views