นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ขณะนี้ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝน กระทรวงสาธารณสุขเป็นห่วงสุขภาพประชาชนอาจเจ็บป่วยด้วยโรคที่มักพบได้บ่อยในฤดูกาลนี้ และมีอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ คือโรค เลปโตสไปโรซีส (Leptospirosis) หรือโรคฉี่หนู ที่ผ่านมามักพบ ในกลุ่มเกษตรกรในเขตชนบทเป็นส่วนใหญ่ แต่ขณะนี้ระบาดมาถึง ในเมือง อาชีพอื่นๆ ก็พบได้ด้วย ทั้งแม่บ้าน ผู้ที่รับจ้าง ประมง ผู้ที่ทำงานออฟฟิศ นักเรียนนักศึกษา พระ ซึ่งอาจสัมผัสเชื้อที่อยู่ในฉี่ของหนูที่เข้ามาอาศัยอยู่ตามบ้านเรือนหรือในที่ทำงาน

นายแพทย์ประดิษฐ กล่าวต่อว่า สถานการณ์ของโรคนี้พบ ได้ตลอดปี แต่จะพบป่วยมากในช่วงฤดูฝน ในปี 2555 สำนักระบาดวิทยารายงานทั่วประเทศป่วยทั้งหมด 4,130 ราย เสียชีวิต 60 ราย ไม่มีรายงานผู้ป่วยใน 3 จังหวัด ได้แก่ สิงห์บุรี นนทบุรี และสมุทรปราการ ในปีนี้ตั้งแต่เดือนมกราคม-5 มิถุนายน 2556 ทั่วประเทศมีผู้ป่วยเข้ารักษาในโรงพยาบาลในสังกัดรวมทั้งหมด 963 ราย เสียชีวิต 7 ราย โดยพบมากที่สุดที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 550 ราย มากที่สุดที่จังหวัดสุรินทร์ 79 ราย และศรีสะเกษ 69 ราย รองลงมาคือภาคใต้ 262 ราย คาดว่าตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2556 เป็นต้นไปจำนวนผู้ป่วยจะเพิ่มขึ้น 1-3 เท่าตัว เพราะประชาชนออกไปทำไร่ทำนา รวมทั้งหนูอาจหนีน้ำเข้าไปอาศัยอยู่ตามอาคารบ้านเรือนได้ จึงเพิ่มโอกาสการสัมผัสกับเชื้อโรคได้ง่ายขึ้น ได้ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ รวมทั้งอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านหรืออสม. เร่งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ประชาชน เพื่อป้องกันลดจำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตให้ได้มากที่สุด

ด้านนายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กล่าวว่า หลังติดเชื้อโรคฉี่หนูประมาณ 10 วัน จะมีอาการป่วย ลักษณะเฉพาะของอาการป่วยโรคนี้ ได้แก่ ไข้สูงเฉียบพลัน ปวดศีรษะรุนแรง หนาวสั่น ปวดกล้ามเนื้ออย่างรุนแรง มักปวดที่น่อง โคนขา ตาแดง ดังนั้น หากประชาชนมีอาการป่วย มีไข้สูงเกิน 2 วัน ไม่ควรนิ่งนอนใจ ขอให้รีบพบแพทย์เพื่อการรักษาที่ถูกต้อง โดยโรคนี้มียาปฏิชีวนะรักษาหายขาด ซึ่งมีในโรงพยาบาลทุกแห่ง เพราะหากปล่อยให้ป่วยเป็นเวลานานอาจเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ไตวาย เลือดออกในปอด เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ทำให้เสียชีวิตได้

นายแพทย์โอภาส กล่าวต่อว่า จากการวิเคราะห์สาเหตุที่ทำให้ประชาชนเสียชีวิตจากโรคนี้ พบว่าส่วนใหญ่มาจากประชาชนชะล่าใจ หลังป่วยมักไปซื้อยากินเอง หรือไปรักษาที่คลินิกแล้วไม่หายจะเปลี่ยนคลินิกไปรักษาใหม่เรื่อยๆ จึงทำให้เชื้อโรคลุกลามไปทำลายอวัยวะอื่นๆ ทำให้เกิดไตวาย สมองอักเสบ และไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลเมื่อมีอาการหนักแล้ว จึงทำให้โอกาสรอดชีวิตมีน้อยลง--จบ--

ที่มา: http://www.naewna.com