กระทรวงสาธารณสุข ย้ำเตือนประชาชน โดยเฉพาะแม่บ้าน คนออฟฟิศ เกษตรกร ผู้ที่มีอาชีพดักหนูขาย ให้ระวังโรคฉี่หนู ซึ่งจะพบมากในช่วงฤดูฝนและพบได้ทั้งในสวนไร่นา และในที่ทำงาน สถานการณ์โรคในรอบเกือบ 5 เดือนปีนี้ พบผู้ป่วยแล้ว 963 ราย เสียชีวิตแล้ว 7 ราย มากที่สุดที่จังหวัดสุรินทร์ ศรีสะเกษ คาดฤดูฝนจะพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้น 1-3 เท่าตัว ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเร่งเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ความรู้ คำแนะนำการป้องกันโรค แนะการป้องกันให้สวมใส่ร้องเท้าขณะลุยน้ำ ผู้ที่มีบาดแผลหรือรอยถลอกที่มือหรือเท้าต้องระวังเป็นพิเศษ หากมีอาการป่วยไข้สูง ปวดน่อง ตาแดง ต้องรีบพบแพทย์รักษา
นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝน กระทรวงสาธารณสุขเป็นห่วงสุขภาพประชาชนอาจเจ็บป่วยด้วยโรคที่มักพบได้บ่อยในฤดูกาลนี้ และมีอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ คือโรคเลปโตสไปโรซีส (Leptospirosis) หรือโรคฉี่หนู ที่ผ่านมามักพบในกลุ่มเกษตรกรในเขตชนบทเป็นส่วนใหญ่ แต่ขณะนี้ระบาดมาถึงในเมือง อาชีพอื่นๆ ก็พบได้ด้วย ทั้งแม่บ้าน ผู้ที่รับจ้าง ประมง ผู้ที่ทำงานออฟฟิศ นักเรียนนักศึกษา พระ ซึ่งอาจสัมผัสเชื้อที่อยู่ในฉี่ของหนูที่เข้ามาอาศัยอยู่ตามบ้านเรือนหรือในที่ทำงาน
นายแพทย์ประดิษฐกล่าวต่อว่า สถานการณ์ของโรคนี้พบได้ตลอดปี แต่จะพบป่วยมากในช่วงฤดูฝน ในปี 2555 สำนักระบาดวิทยารายงานทั่วประเทศป่วยทั้งหมด 4,130 ราย เสียชีวิต 60 ราย ไม่มีรายงานผู้ป่วยใน 3 จังหวัด ได้แก่ สิงห์บุรี นนทบุรี และสมุทรปราการ ในปีนี้ตั้งแต่เดือนมกราคม – 5 มิถุนายน 2556 ทั่วประเทศมีผู้ป่วยเข้ารักษาในโรงพยาบาลในสังกัดรวมทั้งหมด 963 ราย เสียชีวิต 7 ราย โดยพบมากที่สุดที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 550 ราย มากที่สุดที่จังหวัดสุรินทร์ 79 ราย และศรีสะเกษ 69 ราย รองลงมาคือภาคใต้ 262 ราย คาดว่าตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2556 เป็นต้นไปจำนวนผู้ป่วยจะเพิ่มขึ้น 1-3 เท่าตัว เพราะประชาชนออกไปทำไร่ทำนา รวมทั้งหนูอาจหนีน้ำเข้าไปอาศัยอยู่ตามอาคารบ้านเรือนได้ จึงเพิ่มโอกาสการสัมผัสกับเชื้อโรคได้ง่ายขึ้น ได้ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ รวมทั้งอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านหรืออสม. เร่งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ประชาชน เพื่อป้องกันลดจำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตให้ได้มากที่สุด
ทางด้านนายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า เชื้อโรคฉี่หนู ส่วนใหญ่จะพบอยู่ในหนูมากที่สุดทั้งหนูบ้านและหนูนา เป็นเชื้อแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในไตของหนู เชื้อจะออกมากับฉี่หนูที่ฉี่ตามพื้นดินชื้นแฉะ หรือบนพื้นอาคารบ้านเรือน โต๊ะทำงาน จะติดต่อมาสู่คนได้จากการสัมผัส โดยเชื้อจะมีลักษณะคล้ายเกลียวสว่าน สามารถไชเข้าทางผิวหนังที่มีรอยถลอกหรือมีบาดแผล รวมทั้งไชผ่านผิวหนังที่แช่น้ำอยู่เป็นเวลานานได้
โรคนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน ดังนั้นประชาชนจึงต้องป้องกันดูแลตนเองไม่ให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย ผู้ที่มีหน้าที่ทำความสะอาดอาคารบ้านเรือนจึงควรใส่ถุงมือขณะเช็ดถูเพื่อป้องกันการสัมผัสเชื้อโรคฉี่หนู โดยเฉพาะผู้มีรอยถลอกหรือแผลที่มือ และเก็บเศษอาหารให้มิดชิดในภาชนะที่มีฝาปิด ส่วนกลุ่มเกษตรกรขอให้สวมรองเท้าเพื่อป้องกันของมีคมบาดเท้า หากเป็นไปได้ขอให้สวมรองเท้าบู๊ทยางขณะเดินลุยน้ำย่ำโคลน หลังขึ้นจากน้ำหรือเสร็จภารกิจในสวนไร่นาให้รีบชำระล้างอาบน้ำทำความสะอาดร่างกายทันที ส่วนผู้ที่มีอาชีพดักหนูตามไร่นาต้องระวังเป็นพิเศษ เพราะที่กรงจะมีฉี่หนูปนเปื้อนอยู่มากขอให้ใส่ถุงมือป้องกันการสัมผัสเชื้อที่อยู่ตามกรงหนู และให้ล้างทำความสะอาดกรงด้วยผงซักฟอกและตากแดดเพื่อฆ่าเชื้อ นอกจากนั้นในกรณีที่มีฝนตกหนักในบางพื้นที่รวมถึงเขตเมือง ให้หลีกเลี่ยงการย่ำน้ำ โดยเฉพาะเมื่อมีบาดแผล เพราะจะทำให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย หากย่ำน้ำท่วมแล้วให้รีบล้างเท้าให้สะอาดด้วยน้ำ สบู่ และเช็ดให้แห้งทันที รวมทั้งสังเกตอาการผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นด้วย
นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กล่าวว่า หลังติดเชื้อโรคฉี่หนูประมาณ 10 วันจะมีอาการป่วย ลักษณะเฉพาะของอาการป่วยโรคนี้ ได้แก่ ไข้สูงเฉียบพลัน ปวดศีรษะรุนแรง หนาวสั่น ปวดกล้ามเนื้ออย่างรุนแรง มักปวดที่น่อง โคนขา ตาแดง ดังนั้นหากประชาชนมีอาการป่วย มีไข้สูงเกิน 2 วัน ไม่ควรนิ่งนอนใจ ขอให้รีบพบแพทย์เพื่อการรักษาที่ถูกต้อง โดยโรคนี้มียาปฏิชีวนะรักษาหายขาด ซึ่งมีในโรงพยาบาลทุกแห่ง เพราะหากปล่อยให้ป่วยเป็นเวลานานอาจเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ไตวาย เลือดออกในปอด เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ทำให้เสียชีวิตได้
นายแพทย์โอภาสกล่าวต่อว่า จากการวิเคราะห์สาเหตุที่ทำให้ประชาชนเสียชีวิตจากโรคนี้ พบว่าส่วนใหญ่มาจากประชาชนชะล่าใจ หลังป่วยมักไปซื้อยากินเอง หรือไปรักษาที่คลินิกแล้วไม่หายจะเปลี่ยนคลินิกไปรักษาใหม่เรื่อยๆ จึงทำให้เชื้อโรคลุกลามไปทำลายอวัยวะอื่นๆ ทำให้เกิดไตวาย สมองอักเสบ และไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลเมื่อมีอาการหนักแล้ว จึงทำให้โอกาสรอดชีวิตมีน้อยลง
- 38 views