รมว.สธ. เผยผลเฝ้าระวังโรคปอดบวมทั่วประเทศปีนี้ พบผู้ป่วยแล้วกว่า 76,000 คน เสียชีวิต 411 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุและเด็กเล็ก ย้ำเตือนระวังโรคปอดบวมในช่วงฤดูฝน ให้สวมเสื้อผ้าให้ความอบอุ่น หากป่วยเป็นไข้หวัด 3 วันแล้วไข้ยังไม่ลงและไอถี่ขึ้น หายใจหอบ น้ำมูกเปลี่ยนสี ขอให้รีบพบแพทย์ ส่วนผู้ที่มีโรคประจำตัว ขอให้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่
วันนี้ (15 มิถุนายน 2556) นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากสภาพที่มีฝนตกชุกในช่วงนี้ อากาศจะมีความชื้นสูง อาจทำให้ผู้ที่มีสุขภาพไม่แข็งแรงหรือมีภูมิต้านทานน้อย เจ็บป่วยได้เป็นโรคทางเดินหายใจได้ง่าย ที่น่าห่วงก็คือโรคปอดบวมซึ่งโรคนี้เป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งของโรคติดเชื้อทั้งหมดมักพบผู้ป่วยมากในช่วงฤดูฝน พบได้บ่อยในกลุ่มผู้สูงอายุและเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี จากข้อมูลการเฝ้าระวังโรคของสำนักระบาดวิทยา ในปี 2556 ตั้งแต่ 1 มกราคม -9 มิถุนายน 2556 พบผู้ป่วยแล้ว 76,023 คน เกือบ 1 ใน 3 เป็นกลุ่มอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป รองลงมากลุ่มอายุ 55-64 ปี ร้อยละ 11 และกลุ่มเด็กอายุ 1 ปีร้อยละ 10 มีผู้เสียชีวิต 411 คน ตลอดปี 2555 ทั่วประเทศมีผู้ป่วยโรคปอดบวมทั้งหมด 196,145 คน เสียชีวิต 1,920 คน
นายแพทย์ประดิษฐกล่าวต่อว่า ในการป้องกันโรคปอดบวมได้กำชับให้นายแพทย์สาธารณสุขทุกจังหวัด เร่งประชาสัมพันธ์ย้ำเตือนประชาชนในการดูแลสุขภาพ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงต่อการป่วยด้วยโรคปอดบวม ได้แก่ เด็กและผู้สูงอายุ เนื่องจากร่างกายอ่อนแอ มีภูมิต้านทานต่ำกว่ากลุ่มอายุอื่น ควรสวมใส่เสื้อผ้าให้ความอบอุ่นร่างกายอย่างเพียงพอโดยเฉพาะช่วงเวลากลางคืน หลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับผู้ที่เป็นหวัด หากเปียกฝนให้รีบชำระล้างร่างกายและเปลี่ยนเสื้อผ้าทันที นอกจากนี้ในผู้ที่มีโรคประจำตัว ได้แก่ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง ไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ในระหว่างการได้รับเคมีบำบัดและเบาหวาน ควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ เพื่อให้มีภูมิต้านทานโรค โดยสามารถรับบริการได้ที่สถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน ฟรี
ด้านนายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า โรคปอดบวมเป็นโรคที่มีความรุนแรงสูง มีผู้เสียชีวิตมากที่สุด สาเหตุเกิดจากการติดเชื้อหลายชนิด เช่น แบคทีเรียและเชื้อไวรัส อาการของโรคนี้ จะมีไข้สูง ไอ หายใจหอบ เหนื่อย มักจะเกิดตามหลังป่วยไข้หวัดประมาณ 3 วัน ดังนั้นวิธีการสังเกตง่ายๆ ว่าอาจมีโรคปอดบวมแทรกซ้อนเกิดขึ้น คือไข้ไม่ลง ไอมาก หายใจหอบ กรณีที่ผู้ป่วยเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ผู้ปกครองสามารถสังเกตอาการที่เป็นสัญญาณเตือนโรคปอดบวมได้แก่ ไข้สูง เด็กมีอาการซึมลง ไม่กินน้ำ กินนม ไอมีเสมหะ หายใจหอบเร็วหรือหายใจมีเสียงดังหวีด หรือหายใจแรงจนชายโครงบุ๋ม ขอให้รีบพาเด็กไปพบแพทย์ทันที เพื่อรักษาตั้งแต่ระยะแรก อันตรายต่างๆ จะน้อยลง
การป้องกันไม่ให้ป่วยด้วยโรคปอดบวม ต้องหมั่นดูแลสุขภาพให้แข็งแรงออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ สวมเสื้อผ้าหลายชั้นให้ร่างกายอบอุ่น รับประทานอาหารที่มีประโยชน์กินผักและผลไม้ให้มากขึ้น ซึ่งในผักและผลไม้จะมีวิตามินซีเสริมสร้างภูมิต้านทานโรค พักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงการคลุกคลีและใช้สิ่งของร่วมกับผู้ป่วย และใช้ช้อนกลางเมื่อรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น ถ้าเป็นไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ ควรหยุดพัก งดทำงาน งดไปโรงเรียน ควรใช้ผ้าปิดปาก ปิดจมูกเวลาไอหรือจาม หลีกเลี่ยงการเข้าไปอยู่ในสถานที่ที่คนแออัด หมั่นล้างมือให้สะอาดภายหลังสัมผัสสิ่งของหรือผู้ป่วย
- 1 view