ตามกำหนดเดิมเมื่อเริ่มออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขนั้น
กลุ่มแพทย์ชนบทและเครือข่ายประกาศจะรวมตัวกันไปชุมนุมอยู่รอบบ้านนายกรัฐมนตรีตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป เพื่อกดดันให้มีการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
ก่อนที่จะมีการหารือกับรัฐมนตรีสำนักนายกรัฐมนตรีและเลขาธิการนายกรัฐมนตรี แล้วร่วมกันแถลงว่าจะยุติประกาศชุมนุม
แต่จะมาร่วมประชุมหารือกันระหว่างฝ่ายที่มีความขัดแย้ง โดยมีคนกลางอย่างรัฐมนตรีสำนักนายกฯ และเลขาธิการนายกฯ มานั่งเป็นคนกลาง อยู่ด้วย
ทว่าล่าสุดเงื่อนไขของกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงก็เปลี่ยนแปลงไปอีกานหนึ่ง ระบุว่าการหารือถึงประเด็นที่เป็นด้ข้อขัดแย้ง อาทิ การจ่ายเงินตอบแทนแพทย์ผู้ปฏิบัติงานตามผลงาน (พีฟอร์พี) นั้น จะเกิดขึ้นในวันที่ 4 มิถุนายน
ด้านหนึ่ง ระบุว่าตัวแทนของกลุ่มแพทย์ชนบทและเครือข่ายจะต้องเข้าพบกับนายกรัฐมนตรีในวันที่ 6 มิถุนายนให้ได้
อีกด้านหนึ่ง ข้อเรียกร้องที่ยังคงเป็นประเด็นหลักก็คือ จะต้องมีการย้ายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขให้พ้นตำแหน่งออกไป
ความเปลี่ยนแปลงและข้อเรียกร้องเช่นนี้คาดเดาได้ไม่ยากนักว่าจะทำให้เกิดผลอย่างไรตามมา
และพอจะมองเห็นได้ว่าโอกาสที่ทั้งสองฝ่ายจะหันหน้าเข้ามาพูดคุยกันนั้นมีอยู่มากน้อยเพียงใด
เมื่อฝ่ายหนึ่งแสดงท่าว่าไม่ต้องการเจรจา และเชูประเด็นเรื่อง "คน" ขึ้นมาก่อนเรื่อง "ความ" ที่เป็นสาระและแก่นแกนหลักของการทำงานและความขัดแย้ง
เมื่อยืนกรานอยู่แต่ว่าจะต้องย้ายคู่เจรจาอีกฝ่ายหนึ่งให้ออกจากตำแหน่งเท่านั้นจึงจะเริ่มพูดคุยกันได้
ความเป็นไปได้ที่จะเจรจากันด้วยเหตุด้วยผล ด้วยข้อมูลข้อเท็จจริงที่ "เป็นประโยชน์ต่อวงการสาธารณสุขและประชาชน" ตามคำประกาศ ก็ริบหรี่เป็นอย่างยิ่ง
การตั้งเงื่อนไขของการเจรจาที่ในอีกด้านก็เหมือนกับตัดโอกาสของการเจรจานั้นเสียเอง สะท้อนให้เห็นถึงเป้าประสงค์ภายในว่าต้องการนั่งลงเจรจาจริงหรือไม่
หรือมีจุดมุ่งหมายอื่นแอบแฝงซ่อนเร้น อยู่อีก
--ข่าวสด ฉบับวันที่ 6 มิ.ย. 2556 (กรอบบ่าย)--
- 1 view