"หมอประดิษฐ" เผยงบสปสช.ค้างเกือบ 2 หมื่นล้านบาท เร่งปรับระบบบริหาร สถานพยาบาลเบิกเงินตาม "ยูนิตคอร์ส" แทนรายหัวประชากร ช่วยเพิ่มคุณภาพ-ประสิทธิภาพ ย้ำ สธ.ไม่ได้เข้าไปแตะเงิน
นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวในฐานะประธานเปิดประชุมทิศทางการพัฒนากระทรวงสาธารณสุข (สธ.)และการปรับการจ่ายค่าตอบแทนตามผลการปฏิบัติงาน หรือพีฟอร์พี แก่ผู้บริหารสธ.นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์ (รพศ.)โรงพยาบาลทั่วไป (รพท.) และโรงพยาบาลชุมชน(รพช.) ตอนหนึ่งว่า การจัดสรรงบประมาณขาลงของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จะกระจายงบให้สถานพยาบาลโดยตรง แต่อาจประสบปัญหาเรื่องการบริหารจัดการจนเกิดความล่าช้าในการกระจายงบดังกล่าวโดยได้ทราบจากกระทรวงการคลังว่าทำให้เกิดงบคงค้างหรืองบค้างท่อ เดือนมีนาคม 2556 เกือบมี 2 หมื่นล้านบาท เนื่องจากงบ สปสช.มีกว่า 1 แสนล้านบาท ในแต่ละปีมีเงินหมุนเวียนเกือบ 1 หมื่นล้านบาท จึงน่าจะมีการบริหารงบที่ดีกว่าทำให้เกิดเป็นแนวคิดตั้งคณะทำงานร่วมระหว่าง สธ.และสปสช.ในการพิจารณางบขาลงร่วมกัน ทั้งนี้ ในเชิงนโยบายต้องการให้บริหารงบขาลงเป็นแบบค่าใช้จ่ายต่อหน่วย หรือยูนิคอร์ส โดยสถานพยาบาลเบิกตามราคาตลาดทั้งในส่วนของกิจกรรมเกี่ยวกับการรักษาและการส่งเสริมสุขภาพมายังเขตบริการแบบเป็นยูนิตคอร์ส จากนั้น สปสช.จะกระจายงบไปยังสถานพยาบาลตามที่คณะทำงานร่วมเห็นว่าสมควรเป็นการช่วยปรับปรุงคุณภาพและประสิทธิภาพของสถานพยาบาล
รมว.สาธารณสุข กล่าวด้วยว่า เดิมงบขาลง สปสช.จะกระจายตามรายหัวประชากร แต่แบบใหม่จะให้สถานพยาบาลเบิกเป็นยูนิตคอร์ส(unit cost) สมมุติสถานพยาบาลภายในเขตบริการผ่าตัดไส้ติ่งอักเสบ หากเดือนนี้ผ่า 10 ครั้งๆ ละ 10,000 บาท ก็เบิกมา 1 แสนบาท การออกเยี่ยมประชาชนมีต้นทุนเท่านี้ก็เบิกมาทั้งหมด และนำเงินจำนวนนี้เป็นรายจ่ายของสถานพยาบาล เพระต้องจ่ายเงินเดือนค่ายาและเวชภัณฑ์ต่าง ๆ หากดำเนินการแล้วส่วนต่างยังเป็นบวก แสดงว่ายังดีแต่ไม่ได้หมายความว่าดีมาก ต้องไปดูว่าดีเท่าที่ควรหรือไม่ หากเป็นลบจะวัดชัดเจนว่า ลดจากการที่สถานพยาบาลมีกิจกรรมไม่พอหรือไม่ หรือต้นทุนต่อกิจกรรมน้อยไป หรือสาเหตุใด ไม่ได้หมายความว่าขาดทุนแล้วต้องแย่เพราะสถานพยาบาลบางแห่งอยู่ในพื้นที่ที่มีประชากรน้อย ทำให้เข้าไปแก้ไขได้ถูกจุดว่าสถานพยาบาลนั้นๆ เกิดปัญหาจากสาเหตุใด
“วิธีการคือสถานพยาบาลส่งเบิกมาที่เขตบริการจากนั้นเขตจะส่งเบิกไปยัง สปสช.ซึ่งเรื่องเงินงบประมาณ สธ.ไม่ได้เข้าไปแตะต้อง แต่เข้าไปช่วยในเรื่องของการจัดการในภาพรวม เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพ เช่น ยูนิตคอร์สสูงไป ก็จะเข้าไปดูร่วมกันว่าการซื้อยาแพงกว่าที่อื่นหรือไม่ ทำไมไม่ร่วมกันซื้อ สธ.ไม่ได้เข้าไปควบคุมเงินแต่อย่างใด” นพ.ประดิษฐกล่าว
ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก วันที่ 2 พฤษภาคม 2556
- 9 views