ศาลสูงอินเดียปัดคำขอจดสิทธิบัตรยามะเร็งปรับปรุงใหม่ของ โนวาร์ติส เป็นบรรทัดฐานให้มีการผลิตยาชื่อสามัญในราคาถูกได้ต่อไป แพทย์ไร้พรมแดนโล่งอก ด้านโนวาร์ติสจวกเป็นการขัดขวางนวัตกรรมทางยาใหม่ๆ

สำนักข่าวเอพีและเอเอฟพีรายงานว่า เมื่อวันที่ 1 เมษายน ศาลสูงสุดของอินเดียปฏิเสธความพยายามของบริษัทผู้ผลิตยาสัญชาติสวิตเซอร์แลนด์ โนวาร์ติส เอจี ที่จะจดสิทธิบัตรยารักษาโรคมะเร็งที่ได้รับการปรับปรุงใหม่ ในการพิพากษาคดีที่เป็นบรรทัดฐาน ซึ่งนักเคลื่อนไหวด้านสาธารณสุขระบุว่า เป็นการรับประกันว่าผู้ป่วยที่มีฐานะยากจนทั่วโลกจะสามารถเข้าถึงยาได้ต่อไป

โนวาร์ติสต่อสู้คดีถึง 7 ปี เพื่อขอความคุ้มครองสำหรับยา "กลิเวค" ที่ใช้สำหรับรักษาโรคลูคีเมียหรือมะเร็งเม็ดเลือดขาวที่ปรับปรุงใหม่ โดยโต้แย้งว่า สารประกอบที่ใช้มีการพัฒนาขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเนื่องจากทำให้ร่างกายดูดซึมยาได้เร็วและง่ายขึ้น

ทว่าในการตัดสินที่เป็นหัวใจสำคัญของกฎหมายสิทธิบัตรในประเทศที่จัดว่าเป็น "แหล่งผลิตยาของโลก" นั้น ศาลสูงสุดระบุว่า สารประกอบดังกล่าว "ไม่เข้าเกณฑ์ด้านความแปลกใหม่หรือความเป็นนวัตกรรม" ที่ระบุไว้ในกฎหมายของอินเดีย

กฎหมายของอินเดียห้ามบริษัทยาขอจดสิทธิบัตรใหม่จากการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงยาเพียงเล็กน้อย ซึ่งเป็นวิธีที่อุตสาหกรรมยาเรียกว่า "เอเวอร์กรีนนิ่ง" หรือการขอจดสิทธิบัตรยาแบบไม่มีวันหมดอายุ และคำพิพากษาของศาลในคดีนี้ ทำให้บริษัทผู้ผลิตยาสามัญสามารถผลิตยาเลียนแบบที่ใช้ส่วนผสมเดียวกับกลิเวคได้ต่อไป

ลีนา เมงกานี นักกฎหมายของแพทย์ไร้พรมแดน (เอ็มเอสเอฟ) องค์กรการกุศลด้านสาธารณสุข บอกว่า การตัดสินคดีนี้ถือเป็น "ความโล่งอกครั้งใหญ่" ที่จะช่วยชีวิตคนจำนวนมากในอินเดียและประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ทั่วโลก และเป็นการสร้างบรรทัดฐานทางกฎหมายต่อไป

"นวัตกรรมและการวิจัยคิดค้นยาใหม่ๆ จะยังคงได้รับการคุ้มครองทางสิทธิบัตรในอินเดีย แต่คำตัดสินคดีนี้หมายความว่าบริษัทยาไม่สามารถขอจดสิทธิบัตรสำหรับการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยในยาชนิดหนึ่งได้ ตัวอย่างเช่น การออกยาตัวเดิมในขนาดที่ใช้สำหรับเด็ก เป็นต้น" เมงกานีกล่าว

คดีดังกล่าวนี้ถือเป็นหนึ่งในคดีดังที่สุดที่บริษัทยาข้ามชาติพยายามฟ้องศาลในอินเดียที่มูลค่าของตลาดยาใกล้จะแตะ 74,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2563 จาก 11,000 ล้าน เมื่อปี 2554 จากข้อมูลของบริษัทที่ปรึกษาทางการเงินพีดับเบิลยูซี

บริษัทยาหลายแห่งทั่วโลกระบุว่า อุตสาหกรรมยาสามัญของอินเดียที่มีขนาดใหญ่โตและกฎหมายสิทธิบัตรที่มีการกลั่นกรองอย่างเข้มงวดเป็นการลดความน่าลงทุนในการค้นคว้าวิจัยและผลิตยาที่มีคุณภาพ

โนวาร์ติสที่รายงานว่ามีกำไรสุทธิ 9,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2555 จากการมียอดขายยา 56,700 ล้านดอลลาร์ ประณามการตัดสินครั้งนี้โดยระบุว่า เป็นการบั่นทอนกำลังใจในการคิดค้นนวัตกรรมทางยาใหม่ๆ ที่จำเป็นสำหรับวิทยาการทางการแพทย์ที่ก้าวหน้า

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 3 เมษายน 2556