"หมอประดิษฐ" ยันรวมเงินเดือน สธ.ไว้ที่ สปสช. 100% หวังหนีระเบียบยุ่งยาก ก.คลัง ที่ได้เงินไม่แน่นอน ขณะที่แหล่งข่าว สธ. ชี้หากนำเงินเดือนรวมอยู่ในเหมาจ่ายรายหัว โรงพยาบาลจะได้รับเงินลดลง
นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข กล่าวถึงการประชุม บอร์ด สปสช. วันนี้(25 มี.ค.) ในวาระพิเศษเรื่อง "ข้อเสนองบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (เพิ่มเติม) กรณีเงินเดือน และค่าจ้างประจำของหน่วยบริการในสังกัด สธ." ซึ่งจะมีการปรับอัตราจากเดิมที่ใช้งบจากกองทุน สปสช. (งบเหมาจ่ายรายหัว) 60% และใช้งบของ สธ. อีก 40% มาเป็นการใช้งบประมาณจาก สปสช.เต็ม 100% ว่า ทุกปี สธ.จะของบประมาณมาสมทบ 40% จากการใช้ระเบียบของ ก.คลัง มีความยุ่งยากและไม่คล่องตัว ที่สำคัญจำนวนเงินแต่ละปีไม่แน่นอน จึงโอนเงินส่วนนี้ให้ สปสช.เป็นผู้ดำเนินการตั้งงบเองทั้งหมด 100% ส่วนข้อกังวลที่ว่าจะทำให้งบค่าเหมาจ่ายรายหัวลดลง และเป็นการใช้เงินในส่วนค่าใช้จ่ายในการให้บริการผู้ป่วยของ สปสช.นั้น ก็ไม่เป็นความจริง เพราะเป็นการบวกเพิ่มเข้าไปจากงบเหมาจ่ายรายหัว
นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า การนำตัวเลขเงินเดือนมารวมทั้งหมดที่ สปสช. 100% นั้น จะเป็นการสะท้อนข้อมูลต้นทุนที่แท้จริงในการจัดบริการที่โรงพยาบาลว่าเป็นอย่างไร และไม่เกิดความแตกต่างระหว่างค่าตอบแทนข้าราชการ และพนักงาน สธ.ส่งผลให้การบริหารจัดการในโรงพยาบาลมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ด้าน แหล่งข่าวแวดวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในการประชุมบอร์ด สปสช.เบื้องต้นจะมีการเสนองบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติปีงบประมาณ 2557 วงเงิน 188,018.20 ล้านบาท โดยแยกเป็นเงินเดือน 63,014.37 ล้านบาท โดยจะเหลืองบกองทุนที่ส่งให้ สปสช. 125,003.83 ล้านบาท ส่วนงบพีฟอร์พีที่จะขอเพิ่ม 3,000 ล้านบาทนั้นจะมีการแยกขออีกก้อนหนึ่ง ทั้งนี้ หากการปรับรูปแบบการจ่ายเงินเดือนใหม่เป็นไปตามข้อเสนอจริง โดยแยกสัดส่วนชัดเจนก็จะไม่มีผลใดๆ แต่หากนำเงินเดือนมารวมอยู่ในงบเหมาจ่ายรายหัวก็จะส่งผลต่อโรงพยาบาลทันที เนื่องจากจะได้รับเงินน้อยลง ยิ่งในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่มีบุคลากร สธ.มากก็จะส่งผลมาก เพราะจะต้องกระจายบุคลากรที่ล้นเกินไปยังโรงพยาบาลที่ขาดแคลน
ที่มา: หนังสือพิมพ์ASTVผู้จัดการรายวัน วันที่ 25 มีนาคม 2556
- 2 views