เอ็นจีโอจี้รัฐพัฒนาระบบตรวจสธ.ลุยต่อยอดวิจัยรักษาหาย "ศูนย์วิจัยโรคเอดส์" ยันต่อยอดงานวิจัยรักษาเอดส์ให้หายขาด "มูลนิธิเข้าถึงเอดส์" จี้รัฐตรวจ 20 ล้านคน ใน 1 ปี หาผู้ป่วยรายใหม่ แนะรัฐพัฒนาระบบการตรวจ
กลายเป็นข่าวฮือฮาของผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อเอดส์ หลังจากนักวิจัยจากประเทศไทยได้เผยแพร่ผลงานชิ้นโบแดงให้แก่สมาชิกในที่ประชุมเนื่องจากเป็นงานวิจัยเกี่ยวกับผลการรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวีในระยะแรกให้มีโอกาสหายขาดได้ หากตรวจพบผู้ติดเชื้อตั้งแต่สัปดาห์แรก โดยแพทย์จะรีบให้ยาต้านไวรัส เพื่อจะสามารถดักไม่ให้เชื้อเผยแพร่ไปในเซลล์ตามร่างกาย
ล่าสุดเมื่อวันที่ 15 มีนาคม ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย จัดแถลงข่าว "ก้าวแรกของความเป็นไปได้ในการรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวีระยะแรกให้หายขาด" โดย นพ.ประพันธ์ ภานุภาค ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทยเปิดเผยว่า จากผลการศึกษาวิจัยพบว่าถ้าตรวจพบการติดเชื้อตั้งแต่สัปดาห์แรกแล้วรีบให้ยาต้านไวรัสทันที จะสามารถดักไม่ให้เชื้อฝังตัวในเซลล์เพื่อขยายพันธุ์ในระยะยาวได้ รวมทั้งอาจมีแนวโน้ม ที่จะสามารถรักษาให้หายได้ และสามารถหยุดยาต้านไวรัสได้ในอนาคต แต่ขอย้ำว่างานวิจัยนี้ยังไม่สมบูรณ์ เพราะยังเป็นแค่เพียงแค่สมมุติฐานสนับสนุนงานวิจัยเท่านั้น
พญ.จินตนาถ อนันต์วรณิชย์ รองผู้อำนวยการฝ่ายศูนย์ประสานงานร่วมมือระหว่างไทย-ออสเตรเลีย-เนเธอร์แลนด์ เพื่อการศึกษาวิจัยทางคลินิกด้านโรคเอดส์ และหัวหน้าหน่วยวิจัยเสิร์ช ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย กล่าวว่าการทำวิจัย เสิร์ช 010 (search 010) เป็นการศึกษาวิจัยหาผู้ติดเชื้อตั้งแต่เดือนแรก เพราะรู้ว่าในช่วงเดือนแรกเป็นระยะสำคัญที่สุดของการติดเชื้อ เนื่องจากจะทำให้มีการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย ภูมิคุ้มกันถูกทำลายอย่างรวดเร็ว เชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เชื่อว่าหากทำการรักษาได้อย่างรวดเร็วในอนาคตอาจจะสามารถควบคุมเชื้อได้โดยไม่ต้องรับประทานยาต้านไวรัส
พญ.จินตนาถ กล่าวต่อว่า โครงการดังกล่าวมีผู้ป่วยติดเชื้อระยะเฉียบพลันเข้าร่วมโครงการจำนวน 75 คน จากที่เดินเข้ามาตรวจที่คลินิกนิรนาม และได้รับการตรวจยืนยันโดยวิธีการตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อเอชไอวี (Nucleic Acid Technology : NAT) ซึ่งเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพในการตรวจได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำภายในระยะเวลาประมาณ 5 วัน ทำให้ผู้ป่วยได้รับยาต้านไวรัสเร็ว อย่างไรก็ตามก่อนให้การรักษาด้วยยาต้านไวรัสในคนที่ติดเชื้อยังไม่ถึง 2 สัปดาห์ พบว่า 22-24 คนไม่พบเชื้อเอชไอวี แทรกเข้าไปในเม็ดเลือดขาว หรือคิดเป็น 92% และไม่เจอเชื้อในลำไส้ใหญ่ 88% แต่หลังการรักษาด้วยยาต้านไวรัสในคนที่ติดเชื้อไวรัสในช่วง 1 เดือนแรกไป 1 ปีไม่พบเชื้อในเม็ดเลือดขาวเลย และประมาณ 75% ไม่พบเชื้อในลำไส้ใหญ่
พญ.จินตนาถ กล่าวอีกว่า ถือเป็นบันไดไปสู่การรักษาให้หาย แต่โดยความหวังในการทำโครงการวิจัยดังกล่าวคำว่า หายจากเชื้อเอชไอวีหมายถึงการมีเชื้อในปริมาณไม่เกิน 50 ตัวต่อเลือด 1 ซีซี และสามารถควบคุมเชื้อได้ ขั้นตอนที่ 2 คือการให้วัคซีนเพื่อเพิ่มหรือกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกายให้ฆ่าเชื้อเอชไอวี หรือการให้ยาบางประเภทเพื่อกระตุ้นให้เชื้อที่หลบซ่อนตัวอยู่แสดงตัวออกมา และถูกฆ่าโดยยาต้านไวรัส ซึ่งจะดำเนินการภายในปีนี้หรือปีหน้า ส่วนขั้นตอนที่ 3 จะดูว่าเมื่อคนไข้เหล่านี้สามารถควบคุมเชื้อในระยะยาวโดยไม่ต้องรับประทานยาต้านไวรัสได้หรือไม่โดยทีมวิจัยจะให้ผู้ป่วยในโครงการหยุดยา แต่ต้องย้ำว่าการหยุดรับประทานยาต้านไวรัสเป็นกรณีพิเศษที่ทำได้เฉพาะในโครงการวิจัยเท่านั้น เพราะจำเป็นต้องตรวจ ดูแลอย่างใกล้ชิด และจำเป็นต้องให้ยาบางอย่างทดแทน ซึ่งคาดว่าน่าจะเริ่มขั้นตอนนี้ได้อีกประมาณ 3 ปีข้างหน้า เพราะฉะนั้นผู้ป่วยทั่วไปไม่สามารถหยุดยาได้เอง
นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์กล่าวว่า จากนี้ไปสิ่งสำคัญที่ภาครัฐจะต้องเร่งดำเนินการ เพื่อให้การรักษาผู้ติดเชื้อมีประสิทธิภาพมากขึ้น คือการพัฒนาระบบการตรวจหาผู้ติดเชื้อเอชไอวีให้เร็ว โดยต้องการให้กระทรวงสาธารณสุขทำโครงการตรวจหาผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ โดยตั้งเป้าตรวจ 20 ล้านคนใน 1 ปี ซึ่งหากทำได้เชื่อว่า ผู้ติดเชื้อจะเข้าสู่กระบวนการรักษาได้เร็วขึ้น เพราะในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมานั้น มีผู้สมัครใจมาตรวจเอชไอวีด้วยตัวเองเพียง 1 แสนราย แต่อีก 4 แสนราย เป็นผู้ป่วยที่มีอาการแล้วด้งนั้นจึงไม่สามารถลดอัตราผู้ป่วยได้
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สำหรับแนวทางการดำเนินงานของกระทรวงสาธารณสุขในช่วงที่ผ่านมานั้นขอยืนยันว่าทางกระทรวงได้มีความพยายามในการค้นหาผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มมากขึ้น เพราะทางคณะทำงานเห็นประโยชน์ของการตรวจพบผู้ป่วยรายใหม่ เนื่องจากเชื่อมโยงกับแนวทางการรักษาที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ต้องยอมรับว่า การดำเนินการในส่วนของการตรวจคัดกรองผู้ป่วย ในช่วง 2 ปี ที่ผ่านมาอาจจะยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เพราะการปฏิบัติงานยังคงเป็นการตั้งรับ และไม่ได้มีการเจาะกลุ่มเป้าหมายที่มีโอกาสได้รับเชื้อ
ขณะที่ น.ส.สุภัทรา นาคะผิว ผู้อำนวยการมูลนิธิคุ้มครองสิทธิเอดส์ แสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการทำให้คนตระหนักถึงเรื่องตรวจร่างกายของตัวเองให้เร็วขึ้น โดยในปี 2555 นั้นพบว่ามีคนมาตรวจเลือดหาเชื้อเอชไอวีกว่า 5 แสนราย พบว่ากว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของทั้งหมดมาตรวจช้าไป เขามาตอนที่ภูมิคุ้มกันร่างกายเขาต่ำมากแล้ว งานวิจัยนี้จะเป็นสิ่งที่ยืนยันว่า ถ้าทราบผลเร็วอาจจะรักษาให้หายได้ หรือมีการควบคุมเชื้อเอชไอวีได้ดีขึ้น
ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก วันที่ 16 มีนาคม 2556
- 30 views